รีเซต

ยื่น กมธ.ปราบทุจริต สอบปมฉาวล็อกสเปคขยายโรงผลิตน้ำ ชี้แหกระเบียบการคลัง ทำรัฐเสียประโยชน์

ยื่น กมธ.ปราบทุจริต สอบปมฉาวล็อกสเปคขยายโรงผลิตน้ำ ชี้แหกระเบียบการคลัง ทำรัฐเสียประโยชน์
มติชน
29 เมษายน 2565 ( 10:51 )
142
ยื่น กมธ.ปราบทุจริต สอบปมฉาวล็อกสเปคขยายโรงผลิตน้ำ ชี้แหกระเบียบการคลัง ทำรัฐเสียประโยชน์

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างอิงเอกสารถึงประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ยื่นโดยนายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ส.ส.ศรีสะเกษ ให้ตรวจสอบการจัดทําโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกําลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

 

ระบุว่า จากกรณีที่การประปานครหลวงจัดทําโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกําลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ มูลค่าราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ซึ่งบริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จํากัด และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ที่เสนอราคาต่ำสุดเป็นอันดับ 1-2 แต่กลับถูกตัดสิทธิการประมูล

 

โดยให้ผู้ซึ่งเสนอราคาสูงที่สุดชนะการประมูล โดยที่คณะกรรมการอ้างว่าทั้ง 2 บริษัทขาดคุณสมบัติ ตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมการแจ้งว่ากําลังการผลิตน้ำประปาข้างต้นหมายถึงกําลังผลิตสุทธิ ต้องไม่นําตัวเลข ปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย

 

ต่อมา ผู้ร่วมประมูลที่เสนอราคาต่ำสุดอันดับ 1 และ 2 ส่งเรื่องอุทธรณ์ไปให้คณะกรรมการอุธรณ์ โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางทําหน้าที่เป็น ประธานได้พิจารณาข้อเรียกร้องจากเอกชน และมีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียนคณะที่ 1 เสนอ โดยมีมติว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จํากัด มีคุณสมบัติตามเอกสารประกวดราคา (TOR) ในการเข้าร่วมการประมูลจ้าง ก่อสร้างขยายกําลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

จึงให้ กปน.กลับไปดําเนินการในขั้นตอนการพิจารณา ข้อเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องไปต่อไป ตามนัยมาตรการ 119 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลาง ทําหน้าที่เป็นประธานได้มี ข้อยุติในการสอบสวนแล้วนั้น แสดงให้เห็นถึงการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการประกวดราคาโครงการประกวด ราคาจ้างก่อสร้างขยายกําลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ น่าจะเข้าข่ายเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ในการประกวดราคาครั้งนี้มีมูลเหตุอันควรสงสัยที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง เป็นเหตุให้ กปน.เสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ผู้เสนอราคาต่ำสุด และมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่

จึงขอให้มีการสอบสวนเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ความจริงปรากฏเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ รวมถึงหาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในอนาคตอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 29 ต.ค. 2554 การประปานครหลวง (กปน.) ออกประกาศเรื่องประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำ โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท เมื่อกำหนดยื่นข้อเสนอ (e-bidding) ในวันที่ 15 ธ.ค. 2564 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 5 ราย จากเอกชนที่ซื้อซอง 9 ราย ผลปรากฏว่าบริษัทเสนอราคาต่ำสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จํากัด เสนอราคา 6,150 ล้านบาท อันดับ 2 บมจ.ชิโน-ไทยฯ เสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท อันดับ 3 ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จํากัด) เสนอราคา 6.460 ล้านบาท

แต่ปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จํากัด ถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจาก กปน.แจ้งว่าวงษ์สยามก่อสร้างมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เพราะ “มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ตามที่กําหนดในประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11”

ขณะที่ บมจ.ชิโน-ไทยฯ ซึ่งถูกตัดสิทธิจากการเข้าร่วมประมูลด้วยนั้น กปน.แจ้งว่า บมจ.ซิโน-ไทยฯ มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เนื่องจากผลงานก่อสร้างที่ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติถูกตีความว่ามีขนาดน้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ส่งผลให้ ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จํากัด) ซึ่งเสนอราคามาเป็นอันดับ 3 ที่ 6,460 ล้านบาท ชนะการประมูล จากนั้น กปน.เจรจาต่อรองราคากับ ITA Consortium และลดราคาจ้างลงมาเหลือ 6,400 ล้านบาท ก่อนจะประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565

อย่างไรก็ตาม 2 เอกชนที่ถูกตัดสิทธิ์ได้ยื่นอุทธรณ์ กับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนกรมบัญชีกลาง พร้อมกับชี้แจงปัญหาเรื่องการเพิ่มคุณสมบัติเพิ่มเติมภายหลัง เรื่องกำลังการผลิตน้ำสุทธิ ไม่รวมปริมาณน้ำเสีย ซึ่งเอกชนสงสัยว่าเป็นการกำหนดคุณสมบัติเพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางราย ที่สุดแล้ว คณะกรรมการอุทธรณ์ฯ จึงมีมติให้ 2 เอกชนที่ร้องเรียนมีคุณสมบัติครบตามที่เป็นข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง