รีเซต

ไดโนเสาร์ : พบ สายพันธุ์ “ฟันฉลาม” ขนาดยักษ์ชนิดใหม่ในอุซเบกิสถาน

ไดโนเสาร์ : พบ สายพันธุ์ “ฟันฉลาม” ขนาดยักษ์ชนิดใหม่ในอุซเบกิสถาน
ข่าวสด
14 กันยายน 2564 ( 06:23 )
170
ไดโนเสาร์ : พบ สายพันธุ์ “ฟันฉลาม” ขนาดยักษ์ชนิดใหม่ในอุซเบกิสถาน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ ซึ่งเชื่อว่าอาจมีความยาวกว่าไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) หรือ ทีเร็กซ์ ถึง 2 เท่า และมีน้ำหนักมากกว่า 5 เท่า

 

 

ไดโนเสาร์ขนาดมหึมาที่ถูกค้นพบในประเทศอุซเบกิสถาน ได้รับการตั้งชื่อว่า Ulughbegsaurus uzbekistanensis นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันเคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อราว 90 ล้านปีก่อน และอาจเคยเป็นหนึ่งในสัตว์นักล่าตัวฉกาจที่ควบคุมห่วงโซ่อาหารในขณะนั้น ก่อนหน้าที่ทีเร็กซ์ ไดโนเสาร์นักล่าชื่อดังจะถือกำเนิดขึ้นบนโลกกว่า 20 ล้านปี

 

 


เชื่อว่าไดโนเสาร์ชนิดใหม่นี้เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อราว 90 ล้านปีก่อน และอาจเคยเป็นหนึ่งในสัตว์นักล่าตัวฉกาจที่ควบคุมห่วงโซ่อาหารในขณะนั้น

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกระดูกขากรรไกรบนของไดโนเสาร์ชนิดใหม่นี้ครั้งแรกที่ทะเลทรายคีซีลกุม (Kyzylkum Desert) ในช่วงทศวรรษที่ 1980 แต่ได้ถูกลืมไปจนกระทั่งปี 2019 ที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบมันอีกครั้งในบรรดาฟอสซิลที่พิพิธภัณฑ์เก็บสะสมไว้

 

 

ทีมนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้บอกว่า ไดโนเสาร์ชนิดใหม่นี้น่าจะมีความยาวประมาณ 8 เมตร และหนักกว่า 1 ตัน

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โคเฮ ทานากะ นักวิจัยหลักของการค้นพบครั้งนี้บอกว่า ทีมงานสามารถประเมินรูปร่างของไดโนเสาร์สกุล (genus) และชนิดพันธุ์ (species) ใหม่นี้ ได้จากฟอสซิลกระดูกขากรรไกรบนชิ้นเดียวที่ค้นพบ

 

 

เขาอธิบายว่า ในหมู่ไดโนเสาร์เทอโรพอด (theropod) หรือไดโนเสาร์กินเนื้อที่เดินสองขานั้น สามารถใช้กระดูกขากรรไกรบนเป็นตัวชี้วัดขนาดตัวของไดโนเสาร์ได้ เพราะกระดูกส่วนนี้มีความสัมพันธ์กับความยาวของกระดูกต้นขา

 

 

"ดังนั้นเราจึงคาดคะเนได้ว่า Ulughbegsaurus uzbekistanensis มีน้ำหนักกว่า 1,000 กก. และมีความยาวประมาณ 7.5 - 8 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าช้างแอฟริกาโตเต็มวัย"

งานวิจัยยังระบุด้วยว่าไดโนเสาร์ชนิดใหม่นี้อยู่ในกลุ่มของ "ไดโนเสาร์ฟันฉลาม" ที่เรียกว่า คาร์ชาโรดอนโทซอรัส (carcharodontosaurs) ที่ฟันมีลักษณะคล้ายกับฟันของฉลาม

 

 

นอกจากนี้ยังชี้ด้วยว่าไดโนเสาร์ชนิดที่อยู่ในกลุ่มนี้มักมีขนาดใหญ่กว่าไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัสมาก ซึ่งบางตัวอาจมีน้ำหนักมากกว่า 6 ตัน

 

 

เชื่อกันว่า "ไดโนเสาร์ฟันฉลาม"สูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อราว 80 - 90 ล้านปีก่อน ส่งผลให้ไทแรนโนซอรัสได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ควบคุมระบบนิเวศ และมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นสัตว์นักล่าในอันดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือในยุคนั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง