ดัตช์ระงับ “แอสตราเซเนกา” อีกประเทศ ชะลอ 3 แสนโดสจ่อฉีดใน 2 สัปดาห์!
ดัตช์ระงับ “แอสตราเซเนกา” - วันที่ 15 มี.ค. บีบีซี รายงานว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์แถลงระงับฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ บริษัทแอสตราเซเนกา ที่พัฒนาร่วมกับ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ เป็นประเทศล่าสุด
ภายหลังเกิดความกังวลจากกรณีที่ทางการเดนมาร์ประกาศระงับใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นการชั่วคราวเพราะพบผู้เข้ารับวัคซีนบางรายเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศทยอยระงับการฉีดวัคซีนดังกล่าว รวมถึงนอร์เวย์ บัลแกเรีย ไอซ์แลนด์ ประเทศไทย และไอร์แลนด์
จากแถลงการณ์ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ระบุว่าเป็นการตัดสินใจเพื่อป้องกันความเสี่ยงซึ่งตามรายงานจากเดนมาร์กและนอร์เวย์ระบุพบผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
“เราไม่สามารถปล่อยผ่านข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับวัคซีนนี้ได้ เราต้องแน่ใจว่าทุกอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงเป็นการดีที่จะหยุดไว้ก่อนสำหรับตอนนี้” นายฮูโก เดอ ยอง รมว.สาธารณสุขเนเธอร์แลนด์ ระบุเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มี.ค.ตามเวลาท้องถิ่น
การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้โครงการฉีดวัคซีนของเนเธอร์แลนด์ล่าช้าออกไป เนื่องจากทางการได้สั่งซื้อวัคซีนของแอสตราเซเนกาล่วงหน้าจำนวน 12 ล้านโดส และมีกำหนดฉีดเกือบ 300,000 โดสในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ขณะที่บริษัทแอสตราเซเนกาแถลงจากการตรวจสอบในชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) และสหราชอาณาจักร พบรายงานในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนว่ามี 15 กรณีที่เกิด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (ดีวีที) และ 22 กรณีของ ลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (พีอี)
“ราว 17 ล้านคนในอียูและสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนของเราแล้ว และตัวเลขของกรณีที่มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดในกลุ่มนี้ต่ำกว่าหลายร้อยกรณีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประชากรทั่วไป” แพทย์หญิงแอน เทย์เลอร์ แพทย์ผู้อำนวยการของแอสตราเซเนกากล่าว พร้อมย้ำว่าธรรมชาติของการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ ทำให้บริษัทเพิ่มความใส่ใจเป็นรายกรณีและทำมากกว่ามาตรฐานการตรวจสอบการฉีดวัคซีนเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของสาธารณะ
ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าไม่พบความเชื่อมโยงว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกาทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือด อุดตัน เช่นเดียวกับองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (อีเอ็มเอ) ซึ่งกำลังตรวจสอบและประเมินสถานการณ์จากรายงานพบความผิดปกติในกลุ่มผู้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา ก็ระบุว่าประโยชน์ของวัคซีนยังคงมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น