KTB-SCB ประเมินค่าเงินบาทวันนี้

#ทันหุ้น - นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.93 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.88-34.01 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์
ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กดดันให้บรรดาสกุลเงินหลัก ต่างอ่อนค่าลง อาทิ เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรป อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ยังสามารถแกว่งตัวแถวโซน 3,120 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างยังคงปรับตัวลดลง อาทิ Tesla -1.7%, Amazon -1.3% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.14% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.55%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงกว่า -1.51% ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ยังคงกดดันหุ้นกลุ่มยานยนต์ และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากแรงขายหุ้นเทคฯ ยุโรป อย่าง ASML -3.1%
ในส่วนตลาดบอนด์ ท่าทีระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ล่าสุดทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้ ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 4.20% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน และเนื่องจาก เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจอยู่ ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้ (เน้นรอ Buy on Dip)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นบ้าง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่กดดันให้บรรดาสกุลเงินหลักอ่อนค่าลง ทว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงถูกจำกัดลง หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย สู่โซน 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.0-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) สามารถรีบาวด์ขึ้นและแกว่งตัว แถวโซน 3,150-3,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าราคาทองคำจะเผชิญแรงกดดันบ้างจากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดและจังหวะปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนมีนาคม และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนมีนาคม และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB โดยเฉพาะประธาน ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า ECB มีโอกาสราว 38% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ในปีนี้ ท่ามกลางผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตของจีน ในเดือนมีนาคม ซึ่งจะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง พร้อมทั้งรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า RBA อาจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.10% เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจกล่าวได้ว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways Up ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทว่า เงินบาทยังอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways นอกจากนี้ ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาตินั้น แม้ว่า เราจะเห็นแรงขายหุ้นไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป และอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ทั้งนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด ก็ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจยังมีความต้องการซื้อบอนด์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงวันก่อนหน้า โดยแรงซื้อสินทรัพย์ไทยก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ แม้ว่าจะถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยงอย่าง ความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของค่าเงินบาท (USDTHB) ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ซึ่งสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า การแกว่งตัวของเงินบาทในระดับ +/- 1SD อาจอยู่ในช่วงราว +/-0.20% ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.10 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทอ่อนค่าลงตามดัชนีเงินดออลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น โดยนักลงทุนจับตาการประกาศแผนภาษีตอบโต้ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งน่าจะเป็นภาษีที่กำหนดตามประเทศต้นทาง
ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนเดือนมีนาคมออกมาที่ 50.5 สูงขึ้นจากเดือนก่อนและสูงกว่าที่ตลาดคาด ส่วน PMI ภาคบริการอยู่ที่ 50.8 สูงกว่าคาดเช่นกัน
ผู้ผลิตรายใหญ่ญี่ปุ่นยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสภาวะธุรกิจ โดยดัชนีความเชื่อมั่นลดลงเล็กน้อยมาที่ 12 ในเดือน มีนาคม