รีเซต

โควิด-19 และฮ่องกง ประเด็นร้อนที่สหราชอาณาจักรต้องทบทวนความสัมพันธ์กับจีน

โควิด-19 และฮ่องกง ประเด็นร้อนที่สหราชอาณาจักรต้องทบทวนความสัมพันธ์กับจีน
บีบีซี ไทย
2 มิถุนายน 2563 ( 09:17 )
199
โควิด-19 และฮ่องกง ประเด็นร้อนที่สหราชอาณาจักรต้องทบทวนความสัมพันธ์กับจีน

Getty Images
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ร่วมฉลองเทศกาบตรุษจีนเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

วิกฤตไวรัสโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งการที่จีนมีแผนจะบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงกับฮ่องกง ทำให้จีนกลายเป็นประเด็นร้อนด้านการต่างประเทศที่เหล่านักการเมืองในสหราชอาณาจักรกำลังถกเถียงกันอย่างหนักถึงท่าทีและแนวนโยบายที่ประเทศจะดำเนินต่อจีนในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

 

ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ดูเหมือนบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของอังกฤษจะมีกระแสความรู้สึกที่แข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการรับมือต่อโรคระบาดของทางการจีน และล่าสุดคือการที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงที่เข้มงวดต่อฮ่องกง ซึ่งจะทำให้การฝ่าฝืนอำนาจปกครองของจีน ถือเป็นการก่ออาชญากรรม

 

นานาประเทศกังวลว่า กฎหมายความมั่นคงนี้จะเป็นสัญญาณการสิ้นสุดสถานะพิเศษ ของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ก่อตั้งกลุ่มใหม่ ๆ เช่น กลุ่มวิจัยจีน (China Research Group) เพื่อผลักดันนโยบายที่ดุดันขึ้นต่อจีน นอกจากนี้ยังมีการตั้งกลุ่มสนทนาทางแอปพลิเคชันวอตส์แอปป์ (WhatsApp) ของเครือข่าย ส.ส. ต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันทำงานในด้านกลยุทธ์ต่อจีน

 

นายดีน ก็อดสัน ผู้อำนวยการ Policy Exchange องค์กรวิจัยนิยมฝ่ายกลาง-ขวา ชี้ว่า ปัจจุบัน ฝักฝ่ายต่าง ๆ ทางการเมืองภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟกำลังผนึกกำลังกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรดำเนินแนวนโยบายที่แข็งกร้าวขึ้นต่อประเทศจีน

 

นายก็อดสัน เรียกกลุ่มแนวร่วมนี้ว่า "กลุ่มผู้กังขาในจีน" ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่ม ส.ส.ผู้สนับสนุนอเมริกาที่เกรงว่าข้อตกลงการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ อาจเสียหายหากอังกฤษไม่แสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อจีนอย่างเท่าเทียมกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงออกมา

 

นอกจากนี้ยังประกอบด้วยกลุ่ม ส.ส.ผู้สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความกังวลเรื่องที่จีนปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ รวมทั้งกลุ่มผู้มีแนวคิดเสรีนิยมระหว่างประเทศที่ไม่เห็นด้วยต่อการที่จีนท้าทายกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ และกลุ่ม ส.ส.ใหม่ทางภาคเหนือของอังกฤษที่มีความวิตกเรื่องที่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่อาจได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันด้านการค้าของจีน

 

"ยุคทอง"

 

กระแสความเคลื่อนไหวเหล่านี้ รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่แสดงความเป็นปรปักษ์ต่อจีนเพิ่มมากขึ้นกำลังเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรดำเนินนโยบายต่อจีนที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้น

 

ส.ส.อังกฤษบางคนเรียกร้องให้รัฐบาลล้มเลิก หรือลดทอนแผนการที่จะให้หัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนเข้าร่วมในการพัฒนาเครือข่าย 5G ของประเทศ

 

Getty Images

ขณะที่ ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟ อีกส่วนต้องการผลักดันให้รัฐบาลดำเนินมาตรการที่แข็งกร้าวขึ้นต่อจีนในประเด็นของฮ่องกง ตลอดจนการที่ ส.ส.หลายคนมองว่าจีนจัดการโรคระบาดอย่างผิดพลาด เช่น ความพยายามปกปิดข่าวการระบาดในช่วงแรก และการที่จีนดำเนินนโยบายการทูตแบบ "กองพันหมาป่า"(wolf warrior diplomacy) คือ การที่นักการทูตระดับสูงของจีนตอบโต้ทันควัน ตรงไปตรงมา ต่อชาติที่กล่าวหาจีนในประเทศที่พวกเขาประจำการอยู่ ก็ทำให้มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้สหราชอาณาจักรทบทวนนโยบายที่มีต่อจีน

 

แม้กระแสต่อต้านจีนกำลังเพิ่มขึ้นในหมู่นักการเมืองอังกฤษ แต่ก็มีอีกฝ่ายที่อาจไม่เห็นด้วย

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน หัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ คือผู้ที่มีจุดยืนส่งเสริมการผูกสัมพันธ์กับจีนมายาวนาน

ช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน นายจอห์นสัน คือหนึ่งในผู้สนับสนุนความพยายามของอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ในการสร้าง "ยุคทอง" ของความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร-จีน

 

"แพะรับบาป"

 

ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจอห์นสัน ก็ไม่เคยลืมที่จะบอกแขกชาวจีนที่มาเยือนประเทศว่าบุตรสาวของเขากำลังเรียนภาษาจีนกลาง

ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟีนิกซ์ในฮ่องกงว่า "เราสนใจในสิ่งที่ประธานาธิบดีสีกำลังทำ…พวกเรานิยมจีนอย่างมาก"

 

นอกจากนี้ ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟบางคนมีความกังวลว่าความรู้สึกต่อต้านจีนที่เกิดขึ้นในหมู่ ส.ส.ของพรรคอาจเป็น "กระแสเกลียดกลัวจีน" รูปแบบใหม่ โดยที่พวกเขาไม่มีความเข้าใจในจีนอย่างถ่องแท้ ทว่าเป็นกระแสที่สืบเนื่องมาจากกระแสต่อต้านจีนของนักการเมืองสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายที่มีขึ้นในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

Reuters
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ที่กำลังตึงเครียดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเมืองอังกฤษหรือไม่?

ส.ส.ริชาร์ด แกรม ชี้ว่า มีคนไม่น้อยที่ต้องการทำให้จีนเป็นแพะรับบาปรายใหม่ แบบเดียวกับที่สหภาพยุโรปเคยเป็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายแกรม ชี้ว่า นี่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือ "ตำแหน่งงาน" ซึ่งในมุมมองนี้ การมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับจีนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

ดังนั้น อุปสรรคสำคัญของกระแสต่อต้านจีนในหมู่นักการเมืองอังกฤษจึงอาจเป็น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19

ส.ส.บางคนเชื่อว่า สหราชอาณาจักรไม่สามารถทำสงครามการเมืองกับรัฐบาลจีนได้ เพราะจำเป็นต้องได้รับเงินลงทุนจากจีนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

 

แหล่งข่าวหลายคนเผยกับบีบีซีว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศต่างมีความกังวลเดียวกันนี้ และต้องไม่ลืมว่าวิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป มุ่งเน้นไปที่การพึ่งพิงการทำการค้ากับจีนเป็นอย่างมาก

 

มหาอำนาจในเวทีโลก

ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟบางคนชี้ว่า อาจเป็นการไม่ฉลาดหากอังกฤษจะสะบั้นความสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเด็นโลกด้านต่าง ๆ อย่างจีน

ประเด็นที่ว่านี้เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

จีน เป็นทั้งประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้นหากสหราชอาณาจักรต้องการให้การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ ในปีหน้า ประสบความสำเร็จและกำหนดแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้จีนเป็นส่วนหนึ่งในการทำข้อตกลงนี้

 

เซอร์ไซมอน แมคโดนัลด์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษกล่าวว่า "ไม่มีปัญหาใดที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบันจะสามารถแก้ไขหรือคลี่คลายได้โดยปราศจากความร่วมมือจากจีน…"

 

รัฐบาลอังกฤษจะทำอย่างไรได้บ้าง

ตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาด เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลต่างเล็งเห็นว่าจะต้องมีการดำเนินนโยบายด้านความร่วมมือกับจีนที่ดีขึ้นกว่าเก่า

มาตรการเหล่านี้รวมถึงการใช้ภาษาที่แข็งกร้าวขึ้นต่อจีนเพื่อสร้างความพึงพอใจต่อบรรดา ส.ส. ขณะที่เหล่ารัฐมนตรีจะดำเนินการเพื่อให้อังกฤษมีนโยบายที่พึ่งพาจีนน้อยลง

ส่วนรัฐบาลจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องบริษัทสัญชาติอังกฤษไม่ให้ถูกซื้อกิจการจากกลุ่มบริษัทสัญชาติจีน

 

นอกจากนี้ยังอาจมีความพยายามก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรใกล้ชิดกับชาติที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเพิ่มแรงกดดันต่อจีน

ลอร์ดโฮก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ชี้ว่า วิธีการที่ว่านี้อาจทำได้โดยการที่บรรดารัฐมนตรีจะหาทางให้อังกฤษมีนโยบายที่พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็กำหนดกรอบการทำงานใหม่ในการติดต่อกับจีน

 

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลอังกฤษกำลังเผชิญแรงกดดันหลายด้านทั้งจากสหรัฐฯ รัฐบาลจีน และ ส.ส.ในพรรครัฐบาลเอง ก็ทำให้การหาทางออกที่สมดุลของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง