รีเซต

เตือนภัยโจรออนไลน์ยก 5 เคสโดนหลอกลงทุนหารายได้พิเศษ-สินทรัพย์ดิจิทัล-เช่าพระดัง

เตือนภัยโจรออนไลน์ยก 5 เคสโดนหลอกลงทุนหารายได้พิเศษ-สินทรัพย์ดิจิทัล-เช่าพระดัง
TNN ช่อง16
9 กรกฎาคม 2567 ( 12:22 )
22
เตือนภัยโจรออนไลน์ยก 5 เคสโดนหลอกลงทุนหารายได้พิเศษ-สินทรัพย์ดิจิทัล-เช่าพระดัง

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 4 - 7 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

 

คดีที่ 1 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 582,041 บาท ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพชักชวนหารายได้พิเศษอ้างผลตอบแทนดีผ่านช่องทาง Line เป็นงาน กดออเดอร์สินค้าในระบบและจะได้รับค่าคอมมิชชัน จากนั้นส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลสมัครสมาชิก https:/tangs-online.com โดยสอนแนะนำให้โอนเงินเข้าไปในระบบก่อน และจะได้รับคอมมิชชันคืนกลับมา 


ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริงเพราะโอนเงินลงทุนไม่มาก ต่อมาภายหลังให้โอนเงินลงทุนเข้าไปมากขึ้น และไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ อ้างทำ ภารกิจไม่สำเร็จต้องเสียค่าปรับและชำระค่าภาษี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก           


คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 347,482 บาท โดยผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาชักชวนหารายได้พิเศษ อ้างผลตอบแทนดีผ่านช่องทาง Facebook จึงสนใจทักไปสอบถาม เป็นงานกดโปรโมทสินค้าออนไลน์ในระบบและได้รับค่าคอมมิชชัน จากนั้นมิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนทาง Line ส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลลงทะเบียนให้ทำการโอนเงิน เข้าไปในระบบก่อน และจะได้รับคอมมิชชันคืนกลับมา ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังให้เติมเงินเข้าไปในระบบมากขึ้น ต้องการจะยกเลิกอ้างทำผิดกฎระเบียบสัญญา ต้องชำระค่าภาษีและค่าปรับก่อน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก


คดีที่ 3 หลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 900,000 บาท ผู้เสียหายได้รู้จักกับมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ได้ชักชวนให้ลงทุนสกุลเงินดิจิทัล อ้างผลตอบแทนกำไรสูง โดยให้ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มและดึงเข้ากลุ่มไลน์ โดยมีการสอนแนะนำเงินลงทุนเข้าระบบและให้ติดตั้งแอป Compass Wallet 


ในระยะแรก ได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังมีการให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เสียหายต้องการถอนเงินคืน แต่ไม่สามารถถอนได้ อ้างว่าทำผิดเงื่อนไขต้องชำระค่าปรับและชำระค่าภาษี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 4 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 115,550 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้สนใจเช่าพระเครื่องผ่านช่องทาง Facebook ปลอม  จากนั้นได้ทักไปสอบถามพูดคุยและได้เพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line ได้ตกลงราคาโอนเงิน เรียบร้อยในครั้งแรก ภายหลังการโอนเงินเสร็จทางเพจแจ้งว่าต้องชำระค่าประกันสินค้า และค่าพัสดุเพิ่ม จึงโอนเงินไปในครั้งที่สอง หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหาย เชื่อว่าเป็นเพจปลอม ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 65,000 บาท ผู้เสียหายได้สั่งซื้อสินค้าประเภทรถยนต์มือสอง ผ่านช่องทาง Facebook ปลอม ชื่อเพจ “ร้านรถมือสองที่อยู่ในรู” ได้มีการตกลงซื้อขายกันและโอนเงินชำระเรียบร้อย ภายหลังจาก โอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อเพจได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นเพจปลอม ตนเองถูกมิจฉาชีพ หลอก                


สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 2,010,073 บาท

 

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่  5 กรกฎาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

 

1.สายโทรเข้า 1441 จำนวน 813,677 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,281 สาย

 2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 219,769 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,067 บัญชี

 3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 66,461 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.24 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 51,813 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.58 (3) หลอกลวงลงทุน 37,593 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 17.10 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 17,140 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.80 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 15,646 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.12 (และคดีอื่นๆ 31,116 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.16)

 

จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้อ้างการลงทุนเพื่อเป็นรายได้พิเศษ ทั้งการรับออเดอร์ หรือโปรโมทสินค้า  และการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้จักจากการโปรโมทใน Facebook ก่อนใช้อุบายหลอกลวงให้ติดตั้งแพลตฟอร์มโอนเงินลงทุน ก่อนที่จะไม่ได้รับเงินคืน ขณะที่บางเคสเป็นการหลอกลวงเช่าพระเครื่องเกจิดัง หรือซื้อรถยนต์มือสอง ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน ควรตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนตัดสินใจลงทุน หรือซื้อสินค้า โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆผ่านโทรสายด่วน GCC 1111 หรือสอบถามข้อมูลกับทางธนาคาร ก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมใดๆ


อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441



ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง