รีเซต

ลอยกระทงปี 2564 ตรงกับวันไหน? หลังนายกฯไฟเขียวจัดงานได้

ลอยกระทงปี 2564 ตรงกับวันไหน? หลังนายกฯไฟเขียวจัดงานได้
TNN ช่อง16
31 ตุลาคม 2564 ( 16:04 )
317

วันนี้ ( 31 ต.ค. 64 )น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม อนุมัติให้หน่วยงานจัดงานประเพณีลอยกระทงได้เพื่ออนุรักษ์สืบสาน และส่งเสริมประเพณีลอยกระทงที่ทรงคุณค่า ทั้งนี้ประเพณีลอยกระทงในปี 2564 ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน 

 

โดยการจัดกิจกรรมงานประเพณีลอยกระทงอาศัยหลักมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-Free Setting) และการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) โดยมีแนวทางและมาตรการรณรงค์ในการจัดงานประเพณีลอยกระทง ดังนี้

 

1.ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามปล่อยโคมลอย งดเล่นดอกไม้ไฟ พลุ ประทัด รณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า เป็นต้น

 

2.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับการจราจรทั้งทางบกและทางน้ำ ตรวจสอบความเรียบร้อยของยานพาหนะที่จะใช้รับ-ส่งประชาชนในช่วงประเพณีลอยกระทง

 

 3.ขอความร่วมมือผู้จัดงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงวัฒนธรรม โดยการควบคุมผู้ร่วมงานไม่ให้แออัด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา กำหนดให้เว้นระยะห่างทางสังคมในทุกกิจกรรม

 

4.ทุกสถานที่ที่จัดงานประเพณีลอยกระทงจะต้องมีจุดคัดกรองอุณหภูมิ จัดให้มีจุดลงทะเบียนไทยชนะก่อนเข้าและออก จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ จัดจุดทิ้งขยะที่มีฝาปิดมิดชิด ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสทั้งก่อนและหลังการจัดงาน และทำความสะอาดห้องสุขาทุก 1-2 ชั่วโมง หากภายในงานมีการแสดงให้ทำความสะอาดก่อนและหลังการแสดงทุกรอบ

 

 

สำหรับประเพณีลอยกระทงนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขึ้นเต็มฝั่ง และเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงอีกด้วย

 

ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน 

 

นอกจากนี้ประเพณีการลอยกระทง น่าจะเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องมีน้ำตามกระแสน้ำ เพื่อขอบคุณพระแม่คงคา หรือเทพเจ้าแห่งน้ำ อีกทั้งเป็นการแสดงความคารวะขออภัยที่ได้ลงอาบ หรือปล่อยสิ่งปฏิกูลลงน้ำไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งเป็นการบูชาเทพเจ้าตลอดจนรอยพระพุทธบาท      พระเจดีย์จุฬามณี ฯลฯ ตามคติความเชื่อ โดยแท้จริงการลอยกระทงมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

 

1. เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทและบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อ

2. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา

3. เพื่อรู้ถึงคุณค่าของน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต

 

ข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 

ภาพจาก :  ผู้สื่อข่าว TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง