"หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี" เพิ่มเสน่ห์ตลาดหุ้นอเมริกา ชี้ความสามารถชำระหนี้ บจ. ชี้ชะตาตลาดหุ้นไทย
“หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี” เพิ่มเสน่ห์ตลาดหุ้นอเมริกา ชี้ความสามารถชำระหนี้ บจ. ชี้ชะตาตลาดหุ้นไทย
นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุน ผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ดัชนี NASDAQ ถือเป็นตลาดหุ้นที่สร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดของปีนี้ แม้ในช่วงที่ตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกต่างพักฐานจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจตกต่ำและวิกฤตโควิด-19 แต่ดัชนี NASDAQ เป็นดัชนีเดียวที่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาล ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2563 แตะระดับนิวไฮ 10,000 จุดแล้ว แม้ตลาดจะปรับตัวลงเพราะความกังวลการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ตลาดยังเป็นขาขึ้น โดยมีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ (Tech Giant) อย่างกลุ่ม FAANG (Facebook, Amazon, Apple, Netflix, Google) ซึ่งมีสัดส่วนผลกำไรสูงถึง 20% ของดัชนี S&P500 รวมถึงหุ้นแห่งอนาคตอย่าง TESLA เป็นตัวขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม หากมองเจาะลึกลงไปดัชนี NASDAQ ยังมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีและมองเป็นโอกาสเข้าลงทุนเช่นกัน ได้แก่ ADOBE บริษัทซอฟต์แวร์ทางด้านกราฟิกชื่อดังของโลกที่มีราคาหุ้นแข็งแกร่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 และสามารถทำนิวไฮ ที่ระดับ 411 ดอลลาร์สหรัฐ มีผลจากยอดขายซอฟต์แวร์ประเภท SaaS (Software As A Service) ที่เติบโตขึ้นอย่างมากตามกระแสของทั่วโลกที่หันมาทำงานที่บ้าน (Work From Home) รวมทั้งมีแนวโน้มของการทำงานด้านดิจิทัลคอนเทนต์ กำลังจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของ ADOBE ที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหลังจากนี้
Saleforces บริษัทซอฟต์แวร์ที่เน้นลูกค้าองค์กร หรือกลุ่ม B2B เป็นหลัก โดยเน้นการขายซอฟต์แวร์ที่ให้บริการบนระบบคลาวด์ (Cloud) ซึ่งธุรกิจของ Saleforces เห็นการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 เพราะกระแสการทำงานบนระบบคลาวด์ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมานานหลายปีแล้ว และมองว่ากระแส Work From Home รวมถึงการย้ายระบบงานต่างๆ ไปไว้บนออนไลน์ จะเป็นโอกาสที่ Saleforces เช่นกัน
นายปุณยวีร์ จันทรขจร นักลงทุน และวิทยากรด้านการลงทุนที่ลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงประเมินทิศทางค่อนข้างยาก แต่เชื่อว่า SET ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะไม่เห็นการปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดใหม่ (New Low) เพราะผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยได้ผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว ขณะที่ความกดดันจากภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ เริ่มผ่อนคลายลงจากมาตรการอัดฉีดเม็ดเงิน (QE) ของธนาคารกลางทั่วโลก และตลาดหุ้นต่างประเทศทั่วโลกเริ่มมีสัญญาณดีดตัวขึ้นจนใกล้กลับไปเท่าเดิมในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ดัชนีตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงของภาคธุรกิจ (Fundamental) และการเติบโตของภาคเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency) เพราะถึงแม้ว่าปัญหาการขาดสภาพคล่องได้ถูกแก้ไขไปแล้ว แต่ปัญหาการว่างงานยังคงมีอยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งในส่วนรายบุคคล จนไปถึงระดับบริษัทจดทะเบียน
“เศรษฐกิจจะกลับมาโตแบบยั่งยืนได้ ก็เพราะการใช้จ่ายทียั่งยืน ดังนั้นคนต้องมีงานทำ คนจะใช้จ่ายจริงๆ เขาต้องมั่นใจว่ามีรายได้ที่มั่นคงและแน่นอนก่อน ตลาดหุ้นไทยจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้อย่างยั่งยืน บริษัทจดทะเบียน ก็ต้องกลับมามีกำไร เพราะสุดท้ายทุกอย่างจะกลับมาที่ Fundamental ตลาดหุ้นไทยจะปรับลดลงทำ New low หรือไม่ จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการแก้ปัญหาเรื่อง Solvency ซึ่งมองว่าในไตรมาสที่สาม อาจได้เห็นการแก้ไขด้วยมาตรการแรงๆ อีกครั้งเพื่อปรับสมดุลระหว่างเม็ดเงินส่วนเกินกับพื้นฐานกิจการของบริษัทจริงๆ”นายปุณยวีร์กล่าว