สธ.รอผลเพาะเชื้อหาเหตุป่วย "โควิด-19" ซ้ำ เผย เม.ย.ติดในบ้านสูง 23%
สธ.เผยตัวเลขติดเชื้อในครอบครัว เม.ย.สูงถึง 23% ของผู้ป่วยรายใหม่ ย้ำประชาชนอย่าหย่อนมาตรการ รักษาระยะห่าง
กระทรวงสาธารณสุข- วันที่ 15 เมษายน ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังมีผู้ที่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรคยังสถานที่ที่รัฐจัดหาให้ เช่น ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 284 ราย รวมระยะเวลา 12 วัน ทุกรายสบายดี หากในวันที่ 18 เมษายนนี้ ตรวจไม่พบเชื้อก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ ส่วนที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ที่ดูแลคนไทยที่เดินทางกลับมาจากเกาหลี 135 ราย ทุกคนสบายดี ไม่มีไข้
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่เกาหลีใต้พบคนที่รักษาหายแล้วเกิดการติดเชื้อซ้ำจำนวนหนึ่งนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเกาหลีใต้นับเป็นประเทศที่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) สูงที่สุด ทำค่อนข้างเร็ว และรักษาเร็ว ทำได้มาก แต่วันนี้พบผู้รักษาหายแล้วกลับมามีผลตรวจเชื้อเป็นบวกอีก จึงต้องศึกษาต่อว่าที่พบนี้เป็นการติดเชื้อซ้ำหรือเป็นซากเชื้อที่ตายแล้ว การจะทราบได้ต้องมีการเพาะเชื้อในห้องแล็บที่มีความปลอดภัยระดับ 3 ซึ่งของไทยมีอยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
“อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้ในประเทศไทยก็มีผู้ป่วยหญิงชาว จ.ชัยภูมิ ป่วยโควิด-19 รักษาที่ รพ.ในกรุงเทพมหานคร หายแล้วกลับไปที่ จ.ชัยภูมิ ประมาณ 3 วัน ก็รู้สึกไม่สบายไปตรวจพบเป็นบวกอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเพาะเชื้อ หากไม่มีการแบ่งตัวเท่ากับเป็นซากเชื้อ ที่ไม่สามารถแพร่กระจายได้ และอยู่ระหว่างการตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วย” นพ.อนุพงศ์ กล่าว
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยขณะนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยวันนี้มีจำนวนผู้ป่วยกลับบ้านได้มากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ เป็นผู้ป่วยกลับบ้านได้ 92 ราย (สะสม 1,497 ราย) ผู้ป่วยรายใหม่ 30 ราย ทำให้มีผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล 1,103 ราย อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกผู้ป่วยจากแหล่งที่ติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 พบว่า ในเดือนมีนาคมพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,054 ราย
“สาเหตุส่วนใหญ่ติดเชื้อจากนอกบ้านสูงถึงร้อยละ 77 รองลงมาเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศร้อยละ 15 และเป็นการติดเชื้อในบ้านร้อยละ 8 ส่วนเดือนเมษายน (ข้อมูลวันที่ 1-12 เมษายน 2563) พบผู้ป่วย 460 ราย เป็นการติดเชื้อจากนอกบ้านร้อยละ 60 ติดเชื้อในบ้านเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 ราย ส่วนติดเชื้อจากต่างประเทศพบร้อยละ 17 จากข้อมูลข้างต้น พบว่าการติดเชื้อภายในบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการรับเชื้อภายนอกเขามา อาทิ จากผู้ที่ทำงานนอกบ้าน จับจ่ายซื้อของ ทำธุระนอกบ้าน ลูกหลานไปรวมกลุ่มสังสรรค์ แม้กระทั่งจากผู้ที่มาหาที่บ้าน” นพ.อนุพงศ์
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า จึงขอให้ประชาชนปฏิบัติตนปฏิบัติตามมาตรการของ สธ.อย่างเคร่งครัด ทั้งขณะที่อยู่ในบ้านและนอกบ้าน โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ โดยผู้ที่ทำงานนอกบ้านหรือผู้ที่ออกนอกบ้านเป็นบุคคลสำคัญที่อาจนำเชื้อเข้ามาให้คนในครอบครัว เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที จัดให้มีพื้นที่สะอาดส่วนกลางภายในบ้าน ไม่นำสัมภาระที่ใช้นอกบ้านเข้ามาในบริเวณนี้ อาทิ รองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้ว แยกสำรับอาหารส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หากออกนอกบ้านต้องใส่หน้ากากอนามัยหน้ากากผ้า หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลเพื่อลดโอกาสการนำเชื้อจากนอกบ้านมาติดสมาชิกในครอบครัว