รีเซต

โคราชจับตาเคส "ซาเล้ง" คาดติดโควิด-19 จากขยะติดเชื้อ ก่อนแพร่สู่ลูกหลาน

โคราชจับตาเคส "ซาเล้ง" คาดติดโควิด-19 จากขยะติดเชื้อ ก่อนแพร่สู่ลูกหลาน
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2564 ( 11:47 )
40
โคราชจับตาเคส "ซาเล้ง" คาดติดโควิด-19 จากขยะติดเชื้อ ก่อนแพร่สู่ลูกหลาน

วันนี้ (29 ก.ค.64) นายมานะ เสนากลาง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ชุมชนบ้านโคกไผ่ ตำบลหมื่นไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พร้อม อสม.ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านพักที่อยู่อาศัยของครอบครัว คุณตาเพิ่ม อายุ 73 ปี ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนแพร่กระจายเชื้อสู่ภรรยา ลูก หลาน และเพื่อนบ้านรวม 8 ราย

ทั้งนี้ พบว่า เคสคุณตาเพิ่มกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมาให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ว่า คุณตารายนี้ติดเชื้อจากขยะเศษขวดน้ำปนเปื้อนเชื้อโควิด ซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้อทิ้งหน้ากากอนามัยยัดใส่ขวดน้ำ หรือเศษขวดน้ำปนเปื้อนเชื้อโควิด จากผู้ติดเชื้อดื่มน้ำแล้วทิ้งขยะ เมื่อคุณตาไปเก็บขวดน้ำมาขาย จึงเกิดการสัมผัสเชื้อ จนติดเชื้อและแพร่กระจายสู่สมาชิกในครอบครัว

ลูกสาวคุณตา เปิดเผยว่า พ่อมีอาชีพขับซาเล้งเก็บขยะขาย โดยเฉพาะเศษขวดน้ำ 2 วันก่อน มีอาการไอ ไข้ เวียนศีรษะ ไม่มีเรี่ยวแรง จากนั้นแม่ พี่สาว และหลานมีอาการคล้ายกัน จึงพากันไปตรวจ กระทั่งพบติดเชื้อโควิด-19 นอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ตอนนี้พ่อมีอาการปอดอักเสบ แพทย์เชื่อว่าติดเชื้อจากขยะปนเปื้อน

ผู้ใหญ่บ้าน ระบุว่า แจ้งเตือนให้ชาวบ้านระมัดระวังการสัมผัสเศษขวดน้ำปนเปื้อนเชื้อโควิด ซึ่งขณะนี้ในชุมชน ต.หมื่นไวย์ มีผู้ติดเชื้อแพร่กระจายหลายคน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ


วิธีการทิ้งขยะติดเชื้อจากที่อยู่อาศัย

- ผู้ที่ตกเป็นกลุ่มเสี่ยง ระหว่างกักตัว 14 วัน จะต้องใส่น้ำยาฆ่าเชื้อลงในถุงขยะด้วย ขยะทุกชิ้นต้องบรรจุในถุงพลาสติกอย่างมิดชิด ก่อนส่งกำจัด

- ในแต่ละวัน รวบรวมหน้ากากอนามัยใส่ถุงขยะ ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ใส่ถุงอีกชั้น ปิดปากถุงให้สนิท ขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่ง รวบรวมใส่ถุงพลาสติกที่หนา ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่นเดียวกัน

- นำขยะติดเชื้อไปทิ้งยังจุดรวบรวมขยะติดเชื้อในชุมชน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี


วิธีการทิ้งขยะติดเชื้อจากสถานประกอบการ

- สถานประกอบการควรจัดพื้นที่สำหรับวางพักถุงขยะติดเชื้อก่อนเก็บกำจัด และจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้แก่ผู้ที่มีหน้าที่จัดเก็บขยะ และปฏิบัติดังนี้

- ไม่หยิบย้ายขยะด้วยมือเปล่า ควรใช้คีมเหล็กคีบ และสวมถุงมือ

- ตรวจสอบถุงขยะก่อนทิ้งว่าไม่รั่ว ยกอย่างระมัดระวัง หากมีน้ำรั่วออกมาใช้กระดาษซับพื้น แล้วใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้น ก่อนเช็ดถูปกติ

- เคลื่อนย้ายขยะตามเส้นทาง และตารางทิ้งตามกำหนด ในบริเวณที่พักขยะติดเชื้อ และมีป้ายติดไว้ชัดเจนสำหรับทิ้งขยะติดเชื้อ

- ขยะติดเชื้อจากบ้านเรือน ร้านค้า และสถานประกอบการต่างๆ ควรใช้ถุงลักษณะสีแดง บรรจุขยะเพียง 2 ใน 3 เพื่อจะได้ไม่หนักจนทำให้ถุงขาดเมื่อเคลื่อนย้าย มัดปากถุงให้แน่นหนาก่อนทิ้ง

- หมู่บ้าน ชุมชน ที่ต้องการทิ้งขยะติดเชื้อของผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้ติดเชื้อโควิด ต้องแจ้งไปยังหน่วยงานจัดการขยะในท้องถิ่น ส่วนกรุงเทพมหานคร แจ้งไปยังสำนักเขต เพื่อเข้าจัดเก็บอย่างถูกหลักการกำจัดขยะติดเชื้อ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง