ส่องเทคโนโลยีเบื้องหลัง “น้ำพุเทรวี” มรดกแห่งวิศวกรรมและตำนานของกรุงโรม

น้ำพุเทรวี (Trevi Fountain) สัญลักษณ์แห่งความงามและความโรแมนติกใจกลางกรุงโรม ไม่ได้เป็นเพียงภาพลักษณ์ของประติมากรรมหินอ่อนอันวิจิตรบรรจงเท่านั้น แต่ภายใต้ความงามที่ปรากฏสู่สายตา ยังซ่อนไว้ซึ่งเรื่องราวของวิศวกรรมอันชาญฉลาด ที่ผสมผสานระหว่างความสามารถของผู้คนในอดีต และการใช้เทคโนโลยีปัจจุบันในการทำงานของน้ำพุได้อย่างลงตัว
ย้อนกลับไปในอดีต น้ำพุเทรวี สร้างขึ้นในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อปี ค.ศ. 1762 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 12 (Pope Clement XII) ได้มอบหมายให้สถาปนิก นิโคลา ซัลวี (Nicola Salvi) ออกแบบ เพื่อใช้เป็นจุดสิ้นสุดของท่อส่งน้ำโบราณ ที่ยังสามารถใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน
เมื่อลงลึกสู่ใต้ดิน เราจะได้พบกับห้องลับใต้บ่อน้ำพุ ซึ่งเป็นห้องควบคุมการทำงานของระบบประปา หัวใจสำคัญที่หล่อเลี้ยงน้ำพุ ที่นี่คือจุดที่เทคโนโลยีสมัยใหม่และภูมิปัญญาโบราณมาบรรจบกัน โดยพัฒนาขึ้นจากระบบของห้องตกตะกอนในอดีต ที่เดิมเคยใช้เพื่อกรองน้ำจากท่อส่งน้ำ ก่อนที่จะแจกจ่ายไปยังครัวเรือนของเหล่าชนชั้นสูงในกรุงโรม มาทำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบัน ระบบประปาของน้ำพุเทรวี ใช้การหมุนเวียนน้ำด้วยระบบปั๊มไฟฟ้าที่ทันสมัย ใช้ปั๊มไฟฟ้าสองตัว รีไซเคิลน้ำได้ถึง 126 ลิตร ต่อวินาที ผ่านกระบวนการบำบัด เพื่อรักษาสภาพน้ำให้สะอาดและใสอยู่เสมอ โดยการทำงานทั้งหมดเป็นแบบอัตโนมัติ ใช้เซ็นเซอร์และอัลกอริทึมในการตรวจสอบ เพื่อปรับระดับและความดันน้ำให้เหมาะสม
นอกเหนือจากความชาญฉลาดทางวิศวกรรมแล้ว น้ำพุเทรวี ยังเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและตำนาน โดยนักท่องเที่ยวนิยมโยนเหรียญลงในน้ำพุ ตามความเชื่อที่ว่า หากโยนเหรียญด้วยมือขวาข้ามไหล่ซ้าย จะทำให้ได้กลับมาเยือนกรุงโรมอีกครั้ง ส่วนเงินที่ได้จะถูกนำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศล
น้ำพุเทรวีจึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่เป็นสัญลักษณ์ของความชาญฉลาดทางวิศวกรรมที่ผสมผสานอดีตและปัจจุบันได้อย่างลงตัว เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวของผู้คน และเป็นสถานที่ที่ยังคงสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลก
ข้อมูลจาก