รีเซต

กรมชลฯจับมือกปน.ปรับแผนการระบายน้ำ สู้ความเค็ม หลัง 4 เขื่อนหลักน้ำน้อย

กรมชลฯจับมือกปน.ปรับแผนการระบายน้ำ สู้ความเค็ม หลัง 4 เขื่อนหลักน้ำน้อย
มติชน
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 16:55 )
43

ชป.จับมือ กปน.ปรับแผนการระบายน้ำ สู้ความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ลดผลกระทบต่อประชาชน กรมชลประทาน ปรับแผนระบายน้ำหลังค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา เดินหน้าวางมาตราการรองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงตลอดช่วงหน้าแล้งนี้ หวังลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด

 

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่กรมชลประทาน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับ นายรักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการการประปานครหลวง(กปน.) และคณะ โดยมีนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ เพื่อร่วมกับหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปา

 

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(2ก.พ.64) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,992 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,296 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณน้ำใช้การรวมกัน จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มเพิ่มสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ที่บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ปัจจุบัน(2 ก.พ. 64) เวลา 07.00น. วัดค่าความเค็มได้ 0.25 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ทั้งนี้ เนื่องจากในปีนี้ปริมาณต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผล ไม้ยืนต้นเป็นหลัก ไม่เพียงพอที่จะนำไปผลักดันความเค็มได้ตลอดเวลา

 

กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน ขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้างดสูบน้ำเข้าพื้นที่ในระหว่างการลำเลียงน้ำลงมายังพื้นที่ตอนล่าง ส่วนโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้จัดทำรายงานการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไปจนถึงสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำและควบคุมค่าความเค็มต่อไป ส่วนพื้นที่ด้านท้ายน้ำจะควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้น-ลงของน้ำทะเลอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ในการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาน้ำลง พร้อมวางแผนร่วมกับการประปานครหลวง ปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงในการทำ water hammer operation เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และหากเกิดกรณีวิกฤต จะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองส่วนหนึ่งลงมาควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยไม่กระทบต่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานควบคุมการรับน้ำ เพื่อป้องกันความเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง