รีเซต

รอยแผลลึกจากสงคราม เมื่อเหล่าทหารยูเครนชิงฆ่าตัวตาย จากความเจ็บปวดที่ไม่อาจหนีพ้น

รอยแผลลึกจากสงคราม เมื่อเหล่าทหารยูเครนชิงฆ่าตัวตาย จากความเจ็บปวดที่ไม่อาจหนีพ้น
TNN ช่อง16
11 กุมภาพันธ์ 2565 ( 12:45 )
96

***หากคุณกำลังมีภาวะซึมเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยว และเริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือมีคนที่คุณรู้จักกำลังมีความเสี่ยงที่จะกระทำการดังกล่าว สามารถรับคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


---การจบชีวิตของวีรบุรุษ---


ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน 2018 สงครามทางพื้นที่ตะวันออกของยูเครน ซึ่งเพิ่งดำเนินไปได้เพียง 4 ปีกว่า ๆ บาทหลวงเซอร์จีย์ ดิมิทีฟ ยืนอยู่หลังพื้นที่แนวหน้าในแมรินกา และกำลังเล่าเรื่องตลกอยู่ มันเป็นวันอาทิตย์อีสเตอร์ที่เงียบสงบ และบรรยากาศค่อนข้างเป็นใจให้บาทหลวงวางแผนจะทำพิธีทางศาสนาให้กับกองกำลังทหาร


ขณะที่ บาทหลวงดิมิทีฟกำลังจะเล่าเรื่องตลกจบนั้น ความเงียบสงบก็ถูกทำลายลงด้วยเสียงปืน เสียงมันดังมาก และใกล้มากเกินกว่าจะเป็นเสียงกระสุนแหวกอากาศ จากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน 


ในอาคารถัดไปจากที่นักบวชกำลังยืนอยู่ วิศวกรหนุ่มคนหนึ่งหยิบปืนของเขาขึ้นมา หันกระบอกปืนเข้าหาตนเอง และลั่นไกทันที 


จากข้อมูลของคุณพ่อดิมิทีฟ และอันเดรีย โคซินชุก นักจิตวิทยาการทหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว บอกว่า เจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งรีบเข้ามาทันที เมื่อได้ยินเสียงปืน และเมื่อเห็นร่างผู้เสียชีวิต พวกเขาเย้ยหยันร่างชายคนนั้นอย่างไร้ความปราณี  


“พวกเขาเข้ามาและพูดว่า นี่มันโง่มาก เขายิงตัวเอง” บาทหลวงดิมิทีฟ กล่าว 


“ผมบอกว่า เรามีนักจิตวิทยา บางทีวีรบุรุษสงครามคนอื่นควรจะคุยกับเขาดู” 


“พวกเขาต่างตอบว่า ‘ไม่’ ‘ทำไม?’ พวกเขาทำตัวไม่สนใจ อย่างกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกเขาบอกว่า ‘ชายคนดังกล่าวเมา’ ไม่มีอะไรไปมากกว่านี้”


อย่างไรก็ตาม บาทหลวงดิมิทีฟจะเดินทางไปพื้นที่แนวหน้วทางตะวันออกของเมืองเคียฟ ทุก ๆ สองสามสัปดาห์ เพื่อทำหน้าที่เป็นอนุศาสนาจารย์ให้กับเหล่าทหาร เขาไม่ใช่คนที่คุณจะจินตนาการถึงบาทหลวงในคริสตจักรออร์โธดอกซ์ เขาเจาะหู ใส่กางเกงยีนส์ และสวมเสื้อมีฮูด รวมไปถึงยังคลั่งไคล้รถเอามาก ๆ 


ตอนนี้ เขาได้ยินเรื่องทหารฆ่าตัวตายมากมาย จนเรื่องของวิศวกรหนุ่มคนนั้นไม่โดดเด่นอีกต่อไป แต่เขายังคงจำเรื่องของชายเมื่อเดือนธันวาคมที่แล้วได้ เขาได้รับข้อความว่า เจ้าหน้าที่ที่เคยเย้ยหยันการตายของวิศวกรคนดังกล่าว ได้เสียชีวิตแล้ว


“เจ้าหน้าที่คนนั้น เป็นคนที่ติเตียนวิศวกรหนุ่มรุนแรงที่สุด แล้วเขาก็ยิงตัวเองตายเช่นเดียวกัน” บาทหลวงดิมิทีฟ กล่าว 


---รัฐบาลเมินสถิติการฆ่าตัวตาย---


สงครามบดขยี้ในพื้นที่ตะวันออกของยูเครนเข้าสู่ปีที่ 9 และรัสเซียสะสมกองกำลังขนาดเทียบเท่ากับการบุกรุกตามเส้นชายแดน แต่ยูเครนยังคงไม่คำนึงถึงจำนวนการฆ่าตัวตายของกลุ่มทหารและทหารผ่านศึก 


การฆ่าตัวตายถูกทำให้ว่าเป็นการเสียชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากการสู้รบ ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวเลขสาธารณะ ครอบครัวผู้สูญเสียไม่สามารถเรียกร้องเกียรติของการเสียชีวิตจากการสู้รบ หรือได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือใด ๆ


ปี 2018 อนาโตลี มาติออส หัวหน้าอัยการทหารสูงสุดในขณะนั้น เผยว่า ทหารที่ประจำการอยู่ 554 นาย จบชีวิตตัวเองลงในช่วง 4 ปีแรกของสงคราม แต่ตัวเลขไม่ได้รับการยืนยันจากทางกระทรวงกลาโหม ส่วนอีกบุคคลหนึ่งจากปี 2018 เช่นกัน กล่าวว่า มีมากกว่า 1 พันรายที่ฆ่าตัวตาย 


แหล่งข่าวทางทหารเผยกับสำนักข่าว BBC ว่า ตัวเลขทางการน้อยเกินไป เพราะมีการฆ่าตัวตายมากมายที่ยังไม่ได้รับการบันทึก 


“ตราบใดที่สงครามยังอยู่ พวกเขาจะไม่มีวันเผยแพร่ตัวเลขเหล่านี้ พวกเขากลัวว่า รัสเซียจะใช้ข้อมูลนี้ทำลายขวัญกำลังใจเรา” โวโลดิเมียร์ โวโลชิน นักจิตวิทยาการทหาร กล่าว


กระทรวงกลาโหมไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอตัวเลขทางสถิติในทันที โฆษกทหารยูเครน กล่าวว่า ตัวเลขไม่เคยถูกซ่อน แต่มันต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ในการรวบรวมข้อมูล 


---การฆ่าตัวตายเป็นบาป?---


อินนา ดาราฮันชุก รัฐมนตรีช่วยว่าการทหารผ่านศึก กล่าวว่า จากบันทึกแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2014 มีทหารผ่านศึกประมาณ 700 คน เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และกล่าวว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะรู้ตัวเลขที่แท้จริง เพราะไม่มีความชัดเจนว่ามีใครเป็นทหารผ่านศึก และเสียชีวิตอย่างไร?


ครอบครัวทหารผ่านศึก มีสิทธิ์แค่ได้รับเงินและแรงสนับสนุนทางสังคม ถ้าพวกเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าการฆ่าตัวตายเกี่ยวข้องกับสงคราม 


ดาราฮันชุก กล่าวว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ได้ว่าการฆ่าตัวตายเกี่ยวข้องกับสงคราม บรรดาญาติจะพยายามซ่อนความจริงที่ว่า ทหารผ่านศึกทำการฆ่าตัวตาย เนื่องจากความเชื่อทางศาสนา 


การฆ่าตัวตายยังคงเป็นเรื่องผิดบาปในยูเครน และคริสตจักรออร์โธดอกซ์ โดยทั่วไปแล้ว ความเชื่อส่วนใหญ่จะคัดค้านการใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และการนำบาทหลวงมาทำพิธีฝังศพต่อผู้ที่จบชีวิตของตนเอง 


“บาทหลวงจะไม่สามารถทำพิธีฝังศพให้กับคนที่ฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะถ้าเป็นเมืองเล็ก ๆ ครอบครัวปฏิเสธที่จะฝังศพพวกเขา” บาทหลวงดิมิทีฟ กล่าว


ทั้งนี้ ก่อนที่จะเกิดสงคราม บาทหลวงดิมิทีฟทำงานอยู่ในโรงพยาบาลและยืนกรานที่จะทำพิธีฝังศพให้แก่ผู้ที่จบชีวิตของตนเอง เขากล่าวว่า “ผมไม่เคยปฏิเสธแม้แต่ครั้งเดียว ที่จะทำพิธีฝังศพพวกเขา” เพราะเขาเคยเป็นส่วนหนึ่งของกองพลที่วิศวกรฆ่าตัวตาย และเจ้าหน้าที่คนที่จบชีวิตตามกันไป ทั้งนี้ ชายทั้งสองได้รับการฝังศพอย่างเหมาะสม โดยมีกลุ่มเพื่อนทหารเข้าร่วมและสวดภาวนาให้ 


---ยูเครนฆ่าตัวตายสูง---


ยูเครนมีอัตราการฆ่าตัวตายที่เลวร้ายที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และมีการตีตราอย่างมากที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว มีญาติของทหารที่ฆ่าตัวตายไม่กี่คน ยอมที่จะพูดคุยเรื่องนี้


“ในยูเครน ไม่เคยมีการพูดถึงลูกชายหรือลูกสาวของทหารที่ฆ่าตัวตายในช่วงเวลาเดียวกันกับคนที่ตายจากการสู้รบ และครอบครัวพวกเขาก็อยู่อย่างโดดเดี่ยวมาก ๆ” อ็อกซานา อิวานซีฟ ผู้กำกับสารคดีชาวยูเครน ที่ทำเกี่ยวกับประเด็นการฆ่าตัวตาย กล่าว


---รพ.จิตเวช = คุก---


การตีตราเป็นส่วนหนึ่งของการขาดความก้าวหน้าทางระบบสุขภาพจิตในยูเครนเป็นวงกว้างอย่างมาก ซึ่งมีรากเหง้าอยู่ในยุคโซเวียต เมื่อจิตวิทยาถูกอ้างว่าเป็นเพียงหลักสูตรของการกักกันและลงโทษผู้ไม่เห็นด้วย 


“จิตวิทยาหรือจิตเวชศาสตร์คือการลงโทษที่บริสุทธิ์” ยูลานา ซูพาน อดีตรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยูเครน กล่าว 


“คนที่เห็นต่างจะถูกส่งไปโรงพยาบาลจิตเวช และถ้าคุณเคยรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช คุณจะไม่สามารถทำงานให้กับรัฐบาล หรือแม้แต่การเป็นพนักงานแบงก์ในธนาคารได้” เขา กล่าว 


ซูพาน กล่าวว่า การดูแลสุขภาพจิตแทบไม่มีอยู่จริงในยูเครนจนกระทั่งปี 2014 เมื่อผู้ประท้วงล้มล้างประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยากูโนวิช ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย อาสาสมัครนักจิตวิทยาจัดตั้งเต็นท์ขึ้นที่จตุรัสเมเดน เพื่อพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับความบอบช้ำทางจิตใจจากเหตุจลาจล 


นักจิตวิทยา พบว่า ผู้คนไม่เต็มใจที่จะเข้าเต็นท์ในที่สาธารณะ จึงย้ายไปอยู่ใกล้ ๆ อาคารสหภาพแรงงาน เมื่ออาคารเกิดไฟไหม้ ร้านแมคโดนัลด์ในท้องถิ่นจึงได้เข้ามาเสนอกาแฟฟรี และที่พักชั่วคราว


ซูพานได้หยิบจับประเด็นของการเคลื่อนไหวสุขภาพจิตที่นี่ และในปี 2018 ได้ช่วยก่อตั้งสายด่วนฆ่าตัวตายแห่งแรกของประเทศ อย่าง ‘Lifeline Ukraine’ ซึ่งตามหลัง 5 หรือ 6 ทศวรรษของการตั้งสายด่วนที่คล้าย ๆ กันในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซูพานแต่งตั้ง ‘พอล ไนแลนด์’ ให้เป็นคนดำเนินการองค์กร ดังกล่าว


---สายด่วนช่วยชีวิต---


‘Lifeline Ukraine’ ทำงานจากออฟฟิตเล็ก ๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรมของกรุงเคียฟ ที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์บริจาคให้ใช้พื้นที่ฟรี มีพนักงาน 26 คนคอยรับสายเป็นกะตลอดเวลา รายได้ของพวกเขามาจากการบริจาคของสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือ EU ออสเตรเลีย และธุรกิจเอกชนบางแห่ง โดยไม่มีเงินบริจาคจากรัฐบาลยูเครนแต่อย่างใด แม้จดหมายแสดงความยินดีของกระทรวงกลาโหมจะแขวนอยู่บนผนัง 


การทำงานนี้ มีเจ้าหน้าที่เป็นทหารผ่านศึก ที่เพิ่งผ่านสงครามกับรัสเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้เข้าร่วมด้วย พวกเขาได้รับสายจากเพื่อนทหารผ่านศึกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้าตรู่ของวันหยุดสุดสัปดาห์ 


พนักงานจะพยายามเชื่อมต่อกับทหารผ่านศึกที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ด้วยการขอให้เขาเล่าถึงช่วงเวลาและสถานที่เขามีความสุขก่อนปี 2014 ซึ่งเป็นการลดความเครียดรูปแบบหนึ่ง บางครั้ง พวกเขาจะแนะนำให้ผู้ที่โทรเข้ามามองหาสิ่งของที่ทำให้นึกถึงช่วงเวลานั้น  


สเวตลานา ทหารผ่านศึกที่ได้รับการฝึกฝนทางจิตวิทยาภายหลัง และทำงานกะเช้าของสัปดาห์นี้ กล่าวว่า เธอให้ผ้าเช็ดหน้ากับสามี เมื่อเขาถูกส่งไปอยู่แนวหน้าในปี 2014 เพื่อหวังให้เขานึกถึง เมื่อความคิดลักษณะนั้น จะเข้ามาเยือนในจิตใจ 


“สิ่งที่ช่วยให้วีรบุรุษรับมือก่อนสงคราม จะช่วยให้เขารับมือได้ในอนาคต” สเวตลานา กล่าว 


“แต่ทหารผ่านศึกหลายคนไม่สามารถรับมือได้ พวกเขาเรียกว่า มันเป็นอาการ PTSD” 


“บ่อยครั้งพวกเขาจะพยายามระงับความเจ็บปวดด้วยแอลกอฮอลล์” เธอ กล่าว  


---ภัยคุกคามที่คุกรุ่น---


จำนวนผู้ที่โทรเข้ามาหา Lifeline Ukrain ไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการยกระดับภัยคุกคามของรัสเซีย แต่ตารางสมุดบันทึกเผยให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้โทรเข้ามา พูดคุยเกี่ยวกับภัยคุกคามที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ 


“พวกเขากังวลกับความไม่แน่นอนนี้ มันกำลังยืดเยื้อ และมันเป็นสาเหตุของรอยร้าวระหว่างผู้คนที่เคยสนิทกันมาก่อน ไม่มีใครรู้อีกต่อไปว่าใครเป็นศัตรู ใครเป็นเพื่อนของคุณ” สเวตลานา กล่าว


ความหมางเมินนี้ อย่างการฆ่าตัวตาย, พิษสุราเรื้อรัง และการทำร้ายร่างกายในครอบครัว เป็นหนึ่งในรอยแผลที่มองเห็นได้ไม่ชัดของสงคราม มันแบ่งแยกเพื่อน, ครอบครัว แม้แต่คริสตจักร และสร้างความตึงเครียดแก่ประชาชน    


“นี่เป็นสิ่งที่ปูตินต้องการ ยูเครนอยู่ภายใต้ความตึงเครียดเสมอมา ไม่สามารถที่จะวางแผนระยะยาว ไม่สามารถที่จะลงทุนได้ในอนาคต” ซูพาน กล่าว


---ทหารผ่านศึกคือคนล้มเหลว---


“สงครามส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของระบบสุขภาพจิต แต่ข้อห้ามทางวัฒนธรรมในประเทศเกิดขึ้นก่อนความขัดแย้ง” อันเดรีย โคซินชุก นักจิตวิทยาการทหาร กล่าว


“มันเป็นแบบนี้มาหลายศตวรรษแล้ว ในวัฒนธรรมของเรา ผู้ชายขอยอมตายดีกว่าที่จะต้องขอความช่วยเหลือ” เขา กล่าว 


โอเลกซา โซกิล ทหารผ่านศึกผู้เงียบขรึม ที่ใช้ไม้เท้าในการช่วยเดิน และเป็นคนที่มีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากสงครามในปี 2014 เขาเคยพูดคำว่า “ฉันสบายดี” และเคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง จนกระทั่ง เขาเดินทางไปที่ลิทัวเนียได้พบนักจิตวิทยาการทหาร ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาสามารถระบายได้จริง ๆ 


“ผมเปิดใจกับเขา และเขาได้ช่วยผมไว้” โซกิล กล่าว


“แต่ในยูเครน ทหารผ่านศึกทุกคนต่างล้มเหลว มันไม่ใช่แค่การตีตราต่อการฆ่าตัวตาย แต่เป็นการตีตราทหารผ่านศึกด้วย ยูเครนกำลังฆ่าทหารผ่านศึก เรามีกระทรวงที่ใช้เงินหลายล้านไปกับการจัดแข่งขันกีฬา ในขณะที่หมู่บ้านเล็ก ๆ และเมืองทหารผ่านศึกกำลังจะตาย เพราะพวกเขาไม่มีแม้แต่นักสังคมสงเคราะห์ที่จะเขามาถามความเป็นอยู่ของพวกเขา” เขา กล่าว  


โซกิลเพิ่งมีลูกชายหนึ่งคน เขาและภรรยาพบนักจิตวิทยาตลอดการตั้งครรภ์ “นักจิตวิทยาทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกัน เราเอาชนะความกลัวการสูญเสียได้” 


---กำแพงแห่งเกียรติยศ---


ใจกลางกรุงเคียฟ ตามกำแพงด้านหนึ่งที่ติดกับโบสถ์ของบาทหลวงดิมิทีฟ เต็มไปด้วยรูปทหารที่เสียชีวิตจากการสู้รบ ซึ่งรัฐบาลระบุว่า มีประมาณ 14,000 รูป แต่มันปราศจากรูปของทหารที่ฆ่าตัวตาย


บาทหลวงดิมิทีฟอยากให้มีรูปของพวกเขาบนกำแพงเช่นกัน แม้ว่าความคิดเรื่องกำแพงจะเป็นไอเดียของเขา แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

 

“เราไม่สามารถสู้ได้” เขา กล่าว 


หลายปีก่อนเกิดสงคราม บาทหลวงดิมิทีฟ พบว่า ช่องโหว่ในกฎของคริสตจักร เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย อนุญาตให้บาทหลวงเข้าร่วมพิธีศพได้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย ตราบใดที่พวกเขาไม่เป็นคนนำพิธี 


นี่คือวิธีที่เขาทำ และเมื่อเขาสามารถทำได้ เขาก็จะสนับสนุนบาทหลวงออร์โธดอกซ์คนอื่น ๆ ที่ทำแบบเดียวกัน มีคนไม่มากที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และถูกห้ามจากการทำพิธีศพอย่างแท้จริง


“ผมถามเขาง่าย ๆ เลยว่า จะไปกันไหม? ไปร่วมพิธี สวดภาวนา และพูดคำดี ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปอ่านคำอธิษฐานของพระผู้เป็นเจ้ากัน”

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: Gleb Garanich / Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง