รีเซต

ประกาศ 'ปิดอ่าวไทย' ปี 64 พื้นที่บางส่วนของ 'ประจวบฯ-ชุมพร-สุราษฎร์' ชี้ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 30 ล้าน

ประกาศ 'ปิดอ่าวไทย' ปี 64 พื้นที่บางส่วนของ 'ประจวบฯ-ชุมพร-สุราษฎร์' ชี้ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 30 ล้าน
มติชน
8 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:38 )
82
ประกาศ 'ปิดอ่าวไทย' ปี 64 พื้นที่บางส่วนของ 'ประจวบฯ-ชุมพร-สุราษฎร์' ชี้ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 30 ล้าน

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมงเปิดเผยว่า กรมประมงประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในทะเลอ่าวไทย ตอนกลาง ครอบคลุมเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลา 90 วัน ต่อด้วยเขตชายฝั่งทะเลตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. 2564 เป็นระยะเวลา 30 วัน เผยผลการดำเนินมาตรการฯ สอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน

 

​นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการ “ปิดอ่าวไทย” เป็นมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในฝั่งทะเลอ่าวไทย มีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน และเป็นมาตรการที่สำคัญและเป็นภารกิจหลักของกรมประมงที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 68 ปี โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมงดำเนินมาตรการอนุรักษ์เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน และให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง

 

โดยมอบนโยบายการปฏิบัติงานยึดหลัก 3 ป. คือ การป้องกัน การป้องปราม และการปราบปราม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญด้วย

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลวิชาการ ประกอบกับการสำรวจและสุ่มเก็บตัวอย่าง ปลาทู ในช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยในรอบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ห้วงเวลา พื้นที่ และเครื่องมือที่อนุญาตให้ทำการประมง มีความเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรการปิดอ่าว และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง ดังนี้

 

• ช่วงเวลา 15 ก.พ.-15 พ.ค. ระยะเวลา 90 วันเขตพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี พบว่า พ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศ และพร้อมผสมพันธุ์ และมีการแพร่กระจายของลูกปลาทู-ปลาลัง และปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก

• ช่วงเวลา 16 พ.ค.-14 มิ.ย. ระยะเวลา 30 วัน

 

– เขตชายฝั่งทะเลตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี พบลูกปลาวัยอ่อนที่เกิดบริเวณพื้นที่มาตรการมีโอกาสเลี้ยงตัวบริเวณชายฝั่ง

– เขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบลูกปลาขนาดเล็ก เดินทางเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก เพื่อรักษาปลาทูสาวให้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ และพร้อมเดินทางลงไปผสมพันธุ์วางไข่ในช่วง ก.พ. (ปิดอ่าวไทย) ปีต่อไป

 

 

จึงแสดงให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวนี้สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลอ่าวไทยให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ในการประกอบอาชีพ และประชาชนคนไทยได้มีสัตว์น้ำบริโภคอย่างั่งยืน

 

ดังนั้น ในปี 2564 นี้ กรมประมงยังดำเนินมาตรการปิดอ่าวไทย ในช่วงเวลาและพื้นที่เดิม โดยอนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิด ซึ่งเป็นของกลุ่มประมงขนาดเล็ก และไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวไทย ดังนี้

 

(1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

(2) เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้ว กรณีที่ชาวประมงต้องการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ จะต้องใช้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น

(3) เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง

(4) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

(5) ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด

(6) ลอบหมึกทุกชนิด

(7) ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน. สามารถทำการประมงได้ในเขตทะเลชายฝั่ง

(8) คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด<

(9) อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ

(10) จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง

​(11) เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้น อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่ไม่สามารถทำการประมงได้ ​

 

 

โดยช่วงระยะเวลาปิดอ่าว 16 พ.ค.-14 มิ.ย. 2564 อนุญาตให้เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง ไม่ได้จำกัดความยาวของเรือที่ใช้ทำการประมง และเวลาในการทำการประมง ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งของพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และอนุญาตให้เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ประกอบเรือกลที่มีขนาด 10 ตันกรอส สามารถทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง บริเวณเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้

 

“สุดท้ายนี้ ขอฝากพี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมง โดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด

 

หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย

 

“กรมประมงยังมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ ในแต่ละห้วงเวลานั้นช่วยทำให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่า และเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ดังคำขวัญที่ว่า ‘คุ้มครองปลามีไข่ อนุรักษ์ไว้ใช้อย่างยั่งยืน'” อธิบดีกรมประมงกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง