ประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ช่วง 22-26 พฤษภาคม 2567
ตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18 – 25 พฤษภาคม 2567
ทั้งนี้ จากการติดตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา และมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น จะทำให้ด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมาก
สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทันเพิ่มเติม ในช่วงวันที่ 22 – 26 พฤษภาคม 2567 ดังนี้
1. ภาคเหนือ
จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สรวย พาน เทิง เชียงของ และเวียงป่าเป้า)
จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย เชียงดาว สะเมิง แม่วาง และแม่ริม)
จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอปาย แม่ลาน้อย และขุนยวม)
จังหวัดลำปาง (อำเภอวังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม และงาว)
จังหวัดลำพูน (แม่ทา บ้านโฮ่ง และลี้)
จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ฟากท่า และท่าปลา)
จังหวัดตาก (อำเภอเมืองตาก แม่สอด และอุ้มผาง)
จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน แม่จริม และเวียงสา)
จังหวัดแพร่ (อำเภอเมืองแพร่ สอง ร้องกวาง สูงเม่น และเด่นชัย)
จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ และเนินมะปราง)
จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า)
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย และโพนพิสัย)
จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า เซกา และบึงโขงหลง)
จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม และศรีสงคราม)
จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเมืองชัยภูมิ คอนสาร หนองบัวแดง และเทพสถิต)
จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอชื่นชม เชียงยืน และโกสุมพิสัย)
จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ธวัชบุรี โพนทอง และเสลภูมิ)
จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอสังขะ)
จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอขุขันธ์ และขุนหาญ)
จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอน้ำยืน และศรีเมืองใหม่)
3. ภาคตะวันตก
จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี สังขละบุรี ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์ ไทรโยค และด่านมะขามเตี้ย)
จังหวัดราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง และบ้านคา)
จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอแก่งกระจาน และหนองหญ้าปล้อง)
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน และปราณบุรี)
4. ภาคใต้
จังหวัดชุมพร (อำเภอสวี และหลังสวน)
จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอสมุย ดอนสัก และกาญจนดิษฐ์)
จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอขนอม สิชล และนบพิตำ)
จังหวัดสงขลา (อำเภอสะบ้าย้อย)
จังหวัดยะลา (อำเภอยะหา และรามัน)
จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเจาะไอร้อง สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก และแว้ง)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ข้อมูลจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ภาพจาก TNN ONLINE