ภัยภูเขาไฟปะทุ ทำบ้านเมืองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกพังราบ ผู้คนหนีตาย
ข่าววันนี้ ภาพมุมสูงเผยความเสียหายจากภัยภูเขาไฟปะทุที่เกิดขึ้นในประเทศคองโกมองเห็นรอยแยกสีดำระอุเป็นวงกว้างหลายร้อยเมตรที่ชานเมืองโกมา ซึ่งลาวาได้เย็นตัวลงจนกลายเป็นเศษหินหรืออิฐ
นี่เป็นภาพที่อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนบินสำรวจความเสียหายจากลาวาที่ไหลออกมาจากภูเขาไฟนีรากองโก (Nyiragongo) ปะทุขึ้นเมื่อวานนี้ (23 พฤษภาคม) ส่งผลให้ธารลาวาไหลเข้าสู่เขตพื้นที่อาศัย รวมถึงบริเวณท่าอากาศยานเมืองโกมา
ผู้อยู่อาศัยเดินสำรวจตามซากปรักหักพังอย่างระมัดระวัง แม้ว่าการไหลจะหยุดลงเพียงไม่ไกลจากเมืองโกมา แต่จะเห็นกลุ่มควันลอยออกมาจากจุดที่ผู้คนกำลังเดินสำรวจ
ลาวาหยุดอยู่ใกล้กับเขต Buhene ในเขตชานเมือง แต่ก็ฝังบ้านหลายร้อยหลังและแม้แต่อาคารขนาดใหญ่ ความพยายามในการบูรณะมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาหลายเดือน
มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 คนจากภัยในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เสียชีวิตระหว่างพยายามหนีออกจากพื้นที่ ตอนนี้ ทางการย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปตัวเลขความสูญเสียที่ชัดเจน หลังชุมชนที่ได้รับผลกระทบหนักมาก มีบ้านคนมากกว่า 500 หลังถูกทำลายจากลาวาร้อน
UNICEF หรือกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ กังวลเกี่ยวกับเด็กชาวดีอาร์คองโกที่เผชิญภัยธรรมชาติครั้งนี้ โดยศูนย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายงานว่า มีเด็กสูญหายกว่า 170 คน หรือพลัดหลงกับครอบครัวราว 150 คน
ประชาชนกล่าวว่ามีคำเตือนเล็กน้อยก่อนที่ท้องฟ้าจะมืดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเพลิงทำให้เกิดความกลัวว่าการปะทุของภูเขาไฟรอบนี้ อาจทำให้เกิดความหายนะแบบเดียวกับครั้งสุดท้ายในปี 2002 เมื่อมีผู้เสียชีวิต 250 คน ไร้ที่อยู่อาศัยอีก 120,000 คน
เบื้องต้น ทางสำนักข่าว CNN ที่เกาะติดภัยพิบัติครั้งนี้รายงานว่า ผู้ได้รับผลกระทบมีหลายพันคน ในจำนวนนี้ มีราวแปดพันคนที่หนีเอาชีวิตรอดไปยังรวันดาเพื่อนบ้านใกล้เคียง ล่าสุด มีรายงานว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายผู้คนยอมเดินทางกลับไปสำรวจที่อยู่ที่ได้รับผลกระทบ แต่เร็วเกินไปหรือไม่ที่จะไว้ใจภูเขาไฟที่เพิ่งปะทุแรง หลายคนกังวลว่าอาจมีการปะทุซ้ำอีกได้
ก่อนเกิดเหตุ ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ระวังการปะทุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่การสำรวจและเฝ้าติดตามภูเขาไฟในประเทศคองโกนั้นถูกลดความสำคัญลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะถูกตัดงบประมาณดูแลส่วนนี้
เมืองโกมา เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับหน่วยงานด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคตลอดจนภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และยังที่ตั้งของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือของสหประชาชาติหลายแห่ง ซึ่งแถบตะวันออกของประเทศโดยรอบส่วนใหญ่ ตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธที่แย่งชิงการควบคุมทรัพยากรแร่ในภูมิภาค
ภาพ : Reuters