รีเซต

รีวิว 1 ปีรถไฟฟ้าไร้คนขับ 'สายสีทอง' กรุงธนบุรี-คลองสาน ผู้โดยสารยังไม่ถึงเป้า

รีวิว 1 ปีรถไฟฟ้าไร้คนขับ 'สายสีทอง' กรุงธนบุรี-คลองสาน ผู้โดยสารยังไม่ถึงเป้า
มติชน
16 ธันวาคม 2564 ( 15:40 )
205

เปิดบริการครบ 1 ปีในวันนี้พอดี สำหรับรถไฟฟ้าสายสีทองระยะแรก”สถานีกรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน” ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร หลังกรุงเทพมหานคร(กทม.) กดปุ่มเปิดหวูดไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563

 

สำหรับ “สายสีทอง” เป็นรถไฟฟ้าล้อยาง วิ่งบนรางคอนกรีต นอกจากจะมีระยะทางที่สั้นที่สุด ยังเป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย

 

โครงการใช้เงินก่อสร้าง 2,080 ล้านบาท โดย “กลุ่มสยามพิวรรธน์” เจ้าของศูนย์การค้าไอคอนสยาม สนับสนุนเงินลงทุนผ่านการซื้อพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ 30 ปี และกทม.นำรายได้มาใช้ในการก่อสร้าง โดยมีบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(KT)  วิสาหกิจ กทม.  เป็นผู้ดำเนินการ และมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBTSC  เป็นผู้รับจ้างเดินรถ  30 ปี

 

แนวเส้นทางเริ่มจากกรุงธนบุรี เลาะไปตามถนนเจริญนคร ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงสำนักงานเขตคลองสาน มี 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีกรุงธนบุรี จะเชื่อมต่อบีทีเอส 2.สถานีเจริญนคร (ไอคอนสยาม) อยู่เจริญนคร 6 และ 3.สถานีคลองสาน เยื้องโรงพยาบาลตากสิน ในอนาคตจะมี sky walk เชื่อมโรงพยาบาลตากสิน  เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

นับเป็นรถไฟฟ้าอีกสายที่เข้ามาเติมเต็มโครงข่ายในพื้นที่ฝั่งธนบุรี บรรเทาการจราจรติดขัด เชื่อมแหล่งงางและการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านเจริญนคร-คลองสาน อนาคตรถไฟฟ้าสายนี้มีแผนจะสร้างเพิ่ม 1 สถานี ไปถึงประชาธิปก จะไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังเปิดประมูลและก่อสร้างโครงการ

 

ก่อนหน้านี้ “พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ส่วนต่อขยายสายสีทองอีก 1 สถานี จะใช้เงินลงทุนอีก 1,300 กว่าล้านบาท มีระยะทางกว่า 900 เมตร อาจจะเป็นการให้เอกชนร่วม PPP(ร่วมลงทุน)  ขณะที่สายสีทองเฟสแรก คาดว่าจะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 42,000 เที่ยวคน/วัน

 

ด้านนายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ KT เปิดเผยว่า ภาพรวมการเปิดบริการสายสีทองช่วง 1 ปี  ปริมาณผู้โดยสารยังต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ เนื่องจากมีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนหยุดทำงานอยู่ที่บ้านและการให้บริการที่ภาครัฐจำกัดเวลาเปิด-ปิด เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด ทั้งหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว

 

สำหรับปริมาณผู้โดยสารตั้งแต่เปิดใช้วันที่ 16-31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 7,300 เที่ยวคน/วัน ในปี 2564 เดือนมกราคมอยู่ที่ 2,646 เที่ยวคน/วัน กุมภาพันธ์ 2,651 เที่ยวคน/วัน  มีนาคม 3,023 เที่ยวคน/วัน เมษายน 1,820 เที่ยวคน/วัน พฤษภาคม 900 เที่ยวคน/วัน มิถุนายน 1,263 เที่ยวคน/วัน กรกฎาคม 606 เที่ยวคน/วัน สิงหาคม 394 เที่ยวคน/วัน กันยายน 1,211 เที่ยวคน/วัน ตุลาคม 1,981 เที่ยวคน/วัน พฤศจิกายน 2,504 เที่ยวคน/วันและธันวาคม 2,418 เที่ยวคน/วัน

ขณะที่สัดส่วนผู้โดยสารรายสถานี  สถานีกรุงธนบุรีอยู่ที่ 46.56% สถานีเจริญนคร 42.41% และสถานีคลองสาน 11.04%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง