แพทย์ เผยผู้ป่วยโควิด กินยาฟาวิพิราเวียร์ ตาเปลี่ยนสี ชี้ไม่อันตราย ยันพยายามหมุนเวียนเตียงสุดฝีมือ
วันที่ 24 พฤษภาคม ที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการพบผู้ต้องโทษชายจำนวนมากที่รักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ แล้วพบสีของตาขาวเปลี่ยนไปเป็นสีม่วงอมน้ำเงิน ว่า รับแจ้งจากโรงพยาบาล(รพ.) ราชทัณฑ์ ถึงข้อสังเกตดังกล่าว และได้ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รพ.ศิริราชช่วยกันพิจารณา ได้ยืนยันไปแล้วไม่เป็นเรื่องน่ากังวล
“เป็นคุณสมบัติของยาฟาวิพิราเวียร์ สันนิษฐานว่าตัวยาเองมีคุณสมบัติเรืองแสง โดยจะไปสะสมได้ที่กระจกตา เล็บ และผิวหนัง แต่ไม่ทำให้อวัยวะนั้นทำงานผิดปกติ และหายได้เองเมื่อหยุดยา ไม่มีผลข้างเคียง เหมือนเรากินแครอทจำนวนมากตาก็อาจจะออกเหลืองๆ ได้ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยรายอื่นๆ ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยได้รับรายงานลักษณะดังกล่าว แต่มีในรายงานที่ประเทศอินเดียและตุรกีที่พบลักษณะที่ว่าเช่นกัน แต่ทั้งหมดที่รายงานไม่มีอันตรายใดๆ” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีวิพากษ์วิจารณ์ข่าวเตียงโควิด-18 สีเหลืองและแดงในกทม.ว่าง แต่ในหน้างานกลับไม่มีเตียง ว่า เป็นการตั้งข้อสังเกตถึงการสื่อสาร หากเราพูดว่าเตียงว่างก็อาจจะวางใจถึงสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ซึ่งความจริงเตียงที่ว่างคือเตียง รพ.สนาม ซึ่งดูแลผู้ป่วยที่มีอาการระดับสีเขียวถึงเหลืองอ่อน ส่วนนั้นไม่มีปัญหา แต่หากผู้ป่วยเริ่มปอดอักเสบ อาจจะมีปัญหาเตียงรองรับใน รพ.หลักที่มีอยู่ โดยเฉพาะเวลานี้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นจากชุมชน จากแคมป์คนงานก่อสร้าง ถ้าเริ่มมีอาการปอดอักเสบ เกรงว่าเตียงในรพ.หลักจะรองรับไม่เพียงพอ
ขณะนี้ต้องจัดระบบหมุนเวียนอย่างหนักอยู่แล้ว ไม่ได้ว่างอย่างที่เป็นข่าว อีกประการสำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลเวลานี้ทำงานหนักมาก สิ่งที่ดีคือต้องพยายามลดผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารพ.หลักให้ได้ ต้องควบคุมให้เข้มมากขึ้น หากสื่อสารว่ายังมีเตียงว่าง ก็อาจทำให้ละเลยไม่ต้องเข้มงวดควบคุมจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ การแก้ปัญหาที่ถูกจุดคือการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ ไม่ใช่แก้ด้วยการเพิ่มจำนวนเตียง