รีเซต

สภาดิจิทัลฯดัน Capital Gains Tax สำเร็จ คาดลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่ม 3.2 แสนล้าน

สภาดิจิทัลฯดัน Capital Gains Tax สำเร็จ คาดลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่ม 3.2 แสนล้าน
TNN ช่อง16
16 มีนาคม 2565 ( 10:32 )
62

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายผ่าน Venture Capital โดยต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือน โดยสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย  กรมสรรพกากร กระทรวงการคลัง  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ร่วมกันสนับสนุนและผลักดันมาตรการทางภาษีดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ทอัพไทย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งพลังในการเสริมสร้างการลงทุนและกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่ามาตรการภาษี Capital Gains Tax จะสร้างเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่มขึ้นกว่า 3.2 แสนล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท

 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯ เห็นถึงความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรพันธมิตรผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ คาดการณ์ว่าจากมาตรการภาษีนี้จะทำให้ภายในปี 2569 มีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนตำแหน่ง รวมถึงเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท

“มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุน Startup ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น และง่ายขึ้น ถือเป็นผลงานสำคัญที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐและองค์กรพันธมิตร โดยเฉพาะกรมสรรพากร กระทรวงการคลังซึ่งให้ความสำคัญแก่การระดมทุนของสตาร์ทอัพ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …..(มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายกำหนด” ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว

ทั้งนี้ การส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ทอัพจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น โดยมีหลักการใจความสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยกเว้น ภาษี Capital Gains Tax ดังนี้คือ 1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ทอัพ 2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ CVC ทั้งไทยและต่างประเทศ และ PE Trust ต่างประเทศ สำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ทอัพ 3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน CVC ไทยและจากการที่ CVC ไทยเลิกกิจการ และกำไรจากการขายหน่วยทรัสต์ใน PE Trust ไทยและจากการที่ PE Trust ไทยเลิกกิจการ โดย CVC และ PE Trust ไทย ดังกล่าวเป็น CVC และ PE Trust ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ

 สำหรับการลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อ 1 – 3 ต้องเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ และมีรายได้จากอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดใน 2 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนการขายหุ้น 4. ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการขายหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ 5. CVC ไทยและ PE Trust ไทยต้องมีทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทและจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 6. ระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง