ฟินแลนด์พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่เรียบง่ายที่สุดในโลก
บริษัทสตาร์ตอัป Steady Energy ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Tractebel ประเทศเบลเยียม บริษัทผู้นำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นสูงระดับโลก เตรียมพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ที่ทำงานเรียบง่ายที่สุดในโลก ชื่อว่า LDR-50 จุดเด่นในด้านการใช้ต้นทุนต่ำและปลอดภัยมากกว่า
เครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 ให้พลังงานความร้อน 50 เมกะวัตต์ ทำงานที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ซึ่งต่ำกว่าอุณหภูมิที่ร้อนจัดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป อุณหภูมิการทำงานที่ต่ำนี้ช่วยให้เครื่องปฏิกรณ์สามารถใช้การหมุนเวียนอุณหภูมิตามธรรมชาติ เพื่อระบายความร้อนแทนที่จะใช้ปั๊มน้ำซึ่งกินพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก
เป้าหมายของเครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างพลังงานความร้อนป้อนเข้าสู่เขตพื้นที่เมืองเท่านั้น ไม่ได้ใช้งานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยบริษัทเปิดเผยว่าเครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 สามารถให้ความร้อนกับน้ำถึง 150 องศาเซลเซียส เพื่อวัตถุประสงค์การใช้งานด้านต่าง ๆ ในพื้นที่เขตอากาศหนาวเย็น เช่น โรงงานผลิตน้ำจืด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวิธีการสร้างความร้อนแบบอื่น ๆ ที่มีการปล่อยมลพิษทั่วโลกถึง 10% นับว่าเครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
นอกจากนี้ เครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 ยังใช้ต้นทุนต่ำกว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ทั่วไปที่ถูกใช้งานผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนการติดตั้งระบบกังหันไอน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและระบบอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อนมากกว่า
เครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 ใช้การออกแบบที่เรียบง่าย โครงสร้างขนาดประมาณตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้า ถูกวางเอาไว้ในอุโมงค์ใต้พื้นดิน การติดตั้งสามารถทำได้ง่ายและปลอดภัย รวมไปถึงประหยัดพื้นที่ก่อสร้างของเมือง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่เปิดเผยว่าเครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 ใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ชนิดใด อย่างไรก็ตาม เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก (SMR) มักใช้ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นของแข็งสีขาวเทาคล้ายขี้ผึ้งที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
คาดว่าการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 จะเริ่มต้นได้เร็วที่สุดในปี 2029 ก่อนเริ่มต้นใช้งานหลังจากปี 2030 บริษัทสตาร์ตอัป Steady Energy ได้ลงนามการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเครื่องปฏิกรณ์ LDR-50 จะถูกสร้างขึ้นทั่วประเทศฟินแลนด์จำนวน 15 เครื่อง ภายใต้การสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของบริษัทวิศวกรรม Tractebel ประเทศเบลเยียม
ที่มาของข้อมูล Techspot, GlobeNewsWire, Nucnet.org