รีเซต

TISCO เพิ่มสาขาดันสินเชื่อ ประเมินเศรษฐกิจ เคาะแผนปี 67

TISCO เพิ่มสาขาดันสินเชื่อ ประเมินเศรษฐกิจ เคาะแผนปี 67
ทันหุ้น
8 พฤศจิกายน 2566 ( 10:11 )
73

#TISCO #ทันหุ้น– TISCO มองเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแต่เปราะบาง จึงคงกลยุทธ์เติบโตพอร์ตสินเชื่อดอกเบี้ยสูงผ่านการขยายสาขาสมหวังเฉลี่ยปีละ 200 สาขา มุ่งเน้นทำเลศักยภาพ ตั้งเป้าคุ้มทุนใน 3 ปี เน้นสร้างกำไรได้ยั่งยืน ย้ำคุม NPL ในกรอบไม่เกิน 2.5% ชี้ปี 2567 กลับมาตั้งสำรองในระดับปกติ ขณะที่ปัจจุบันตั้งสำรองสูงราว 200%


นายชาตรี  จันทรงาม  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายควบคุมการเงิน และบริหารความเสี่ยง บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCOกล่าวคาดการณ์แนวโน้มผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/2566 พอร์ตสินเชื่อยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากงวดไตรมาส 3/2566 (QoQ) หนุนจากกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (Auto Cash) และสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง ผ่านการขยายสาขา “สมหวัง” เฉลี่ยปีละ 200 สาขา มุ่งเข้าสู่พื้นที่ที่มีความต้องการสินเชื่อ โดยตั้งเป้าถึงจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ภายใน 3 ปี และต้องสามารถทำกำไรได้อย่างยั่งยืน


*สินเชื่ออีวีมีสัดส่วน 10%

สำหรับสัดส่วนสินเชื่อรถยนต์ใหม่ หรือสินเชื่อเช่าซื้อ ยังคงมีแนวโน้มตรงตัวจากการพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น โดย ณ ปัจจุบันมีสัดส่วนสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนราว 10%ของพอร์ตสินเชื่อปล่อยใหม่ โดย ณ ปัจจุบันสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าต่ำมาก อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงต้องติดตามพัฒนาการณ์รถยนต์ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพัฒนาการของแบตเตอรี ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการคำนวณค่าเสื่อมราคารถยึด, ราคารถมือสอง ฯลฯ ในอนาคต


“NPLของรถไฟฟ้า ณ ปัจจุบันต่ำมากจนยังไม่สามารถคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ แต่อาจเป็นเพราะรถยนต์ไฟฟ้ายังมีอายุไม่เกิน 3 ปีถือเป็นรถใหม่ จึงยังต้องติดตามในระยะยาว ควบคู่กับการติดตามพัฒนาการทั้งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพัฒนาการของแบตเตอรีอย่างใกล้ชิด”


สำหรับสินเชื่อธุรกิจ มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ภาครัฐบาล และเอกชนไม่มีแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียม และนายหน้าธุรกิจประกันมีแนวโน้มทรงตัว สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดทุนที่ไม่ค่อยดี


ขณะเดียวกัน ยังคงมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสัดส่วน NPL ทั้งปี 2566 ในกรอบไม่เกิน 2.5% จาก ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 ที่ 2.25%และยังคงพิจารณาการตั้งสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)ในระดับต่ำกว่าปกติได้ต่อเนื่อง หนุนจากสัดส่วนเงินทุนสำรอง ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 ยังคงสูงราว 200%พร้อมกันนี้ได้พิจารณาปรับนโยบายการจ่ายเงินปันผลจากปีละ 1 ครั้งเป็นปีละ 2 ครั้ง โดยเริ่มจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งแรกของปี 2566 (1H/66) ที่ 2 บาทต่อหุ้น ไปเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา


เศรษฐกิจยังเปราะบาง

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างสรุปกลยุทธ์การดำเนินงานปี 2567 โดยประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบาง แม้หลายองค์กรจะประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าปี 2566 เบื้องต้นจึงยังคงมุ่งเติบโตในส่วนของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยที่มีผลตอบแทนสูงด้วยความระมัดระวังต่อเนื่องจากปี 2566 ทั้งนี้ธนาคารยังเห็นโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงกรอบ NPL ไว้ที่ไม่เกิน 2.5%ให้สอดคล้องกับการขยายพอร์ตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง


พร้อมกันนี้ ยอมรับว่าส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ยังคงมีปัจจัยกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ย “ขาขึ้น” ต่อเนื่อง แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย “ทรงตัว” ในระดับสูงไว้ หลังภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำ 


แต่ตลอดปี 2566 ผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ยังทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเฉลี่ยราว 1%เบื้องต้นจึงคาดการณ์ว่ายังต้องใช้ระยะเวลาอีกราว 1-2 ไตรมาสกว่าอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล ขณะเดียวกัน ธนาคารจะพิจารณานโยบายการตั้งสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับปกติ ส่วนทั้งปี 2566 ตั้งสำรองในระดับต่ำกว่าปกติเพราะสัดส่วนเงินสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงยังอยู่ในระดับสูงที่ 200-250%

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง