รีเซต

จุฬาภรณ์นำร่องวิจัยซิโนฟาร์มในเด็ก 10-18 ปี กว่ากว่า 5 หมื่นคน จ่อปิดศูนย์ฉีดชั่วคราว รอบูสต์เข็ม 3 ปลายปี

จุฬาภรณ์นำร่องวิจัยซิโนฟาร์มในเด็ก 10-18 ปี กว่ากว่า 5 หมื่นคน จ่อปิดศูนย์ฉีดชั่วคราว รอบูสต์เข็ม 3 ปลายปี
มติชน
20 กันยายน 2564 ( 12:41 )
26
จุฬาภรณ์นำร่องวิจัยซิโนฟาร์มในเด็ก 10-18 ปี กว่ากว่า 5 หมื่นคน จ่อปิดศูนย์ฉีดชั่วคราว รอบูสต์เข็ม 3 ปลายปี

เมื่อวันที่ 20 กันยายน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธาน เปิดโครงการ “Vacc 2 School” นำร่องฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-18 ปี กว่า 2,000 คน จากกลุ่มเด็กและเยาวชนเป้าหมายกว่า 50,000 คน ใน 89 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการ ที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มแรกในวันนี้ จะเว้นระยะเวลาการฉีดเข็มที่ 2 ประมาณ 3-4 สัปดาห์ เท่านั้น

 

 

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า การจัดฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ให้เด็กและเยาวชนในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัย มี 2 ประเด็น คือ ศึกษาดูอาการข้างเคียง และการป้องกันการระบาดในโรงเรียนและในครอบครัวของเด็ก ซึ่งประเทศไทยจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม แม้จะมีข้อมูลในต่างประเทศอยู่แล้วก็ตาม

 

 

“แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การระบาดในเด็กจะไม่มีอาการรุนแรง และการเสียชีวิตก็น้อย ซึ่งในจำนวนเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 13 จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่ที่ทางนักวิชาการทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ไม่ได้คำนึงถึงกันคือ เรื่องของสังคม เด็กต้องไปโรงเรียน เด็กต้องไปเจอเพื่อน จะดูประเด็นของเรื่องผลวัคซีนแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ และหวังว่าข้อมูลจากลการศึกษานี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะทำการรับรอง เพราะต้องการให้ใช้ในต่างจังหวัดเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาของเด็ก ซึ่งในการเลือกวัคซีนก็จะเลือกวัคซีนที่มีผลข้างเคียงน้อย เพื่อให้เด็กกลับไปมีชีวิตปกติบ้าง เด็กต้องวิ่งเล่นที่โรงเรียน เด็กต้องแอบกินขนมในห้องเรียน เด็กต้องแอบเล่นมือถือในห้องเรียน มันจะได้สนุกสนาน ครูก็จะได้รักษาวินัย สั่งสอนว่าทำไม่ได้นะ อย่างนั้นตอนอยู่ที่บ้าน เด็กๆก็จะขาดตรงนี้ไป เราลองนึกดู เป็นนักเรียน ไม่ได้ไปโรงเรียนมาแล้วปีนึง นึกว่าเรื่องเล่นๆ แต่พอมานึกดูดีๆแล้วเด็กเหล่านี้จะเป็นอย่างไร เมื่อขาดชีวิตตรงนี้ไปปีนึง” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

 

 

ศ.นพ.นิธิ กล่าวถึงการติดตามอาการข้างเคียงหลังรับวัคซีนว่า จะใช้ระบบเหมือนผู้ใหญ่ คือ การส่งข้อความถามไป จะมีผู้ปกครอง และโรงเรียนที่มีผู้รับผิดชอบตามที่ได้กำหนดไว้ว่าเป็นใคร และอีกส่วนคือ การติดตามการติดเชื้อในครอบครัวที่จะทำการสอบถามไปเช่นกัน

“ซึ่งอาการข้างเคียงที่จะพบในเด็กได้คือ อาการข้างเคียงทั่วไป เช่น ไข้ เจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน แต่ความรุนแรงนั้นต่ำกว่าวัคซีนเชื้อตายอื่นๆ ทั้งนี้ ในส่วนของการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับวัคซีนนั้น ขอให้เด็กได้ดื่มน้ำ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ งดการออกกำลังกายหนักทั้งก่อน-หลังฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ผู้ปกครองเองก็ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป เพราะอาจเกิดความเครียดที่ส่งมาถึงเด็กได้” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงวัคซีนเข็มที่ 3 ที่จะนำมาฉีดกระตุ้นให้กับคนไทยนั้น ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า อย่าไปสนใจระดับของภูมิคุ้มกัน เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่บ่งบอกถึงการป้องกันของร่างกาย ถ้ายังมีการระบาดอยู่ หากฉีดวัคซีนเชื้อตาย แนะนำว่าประมาณ 4-6 เดือน หลังการฉีดเข็มที่ 2 ให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 แต่หากฉีดวัคซีนทางเลือก หรือ วัคซีน mRna หรือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แนะนำให้เว้นช่วงประมาณ 6-8 เดือน ค่อยกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยไม่ต้องสนใจเรื่องของภูมิคุ้มกัน แต่ต้องพิจารณาประกอบจาก 2 ประเด็นหลัก คือ ความเสี่ยงของบุคคลนั้นๆ กรณีที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการรุนแรงแค่ไหน และบุคคลนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดโรคมากแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับอาชีพ และการระบาดในสังคมนั้นมากน้อยแค่ไหน

 

 

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า สำหรับของโครงการวัคซีนเข็มที่ 3 ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นั้น จนถึงขณะนี้ ยังขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะจัดสรรวัคซีนมาให้หรือไม่ หากมีมาก็จะดำเนินการต่อ แต่หากยังไม่มีมาในระยะนี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะทำการปิดศูนย์ชั่วคราว เพื่อให้บุคลากรพักการฉีดวัคซีนไว้ชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานครในขณะนี้เริ่มดีขึ้น และมีจุดบริการฉีดมากขึ้น แต่หากมีการจัดสรรวัคซีนเข็มที่ 3 มาเพิ่มเติม ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็จะกลับมาเปิดให้บริการใหม่ทันที ซึ่งคาดว่าจะเปิดฉีดเข็มที่ 3 ในช่วงปลายปี 2564

 

 

“สำหรับความคืบหน้าของวัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 8 ล้านโดส ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำเข้ามานั้น คาดว่าจะทยอยเข้ามาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 มีการวางแผนไว้ชัดเจนว่า จะนำมาใช้เป็นเข็มกระตุ้น โดยให้เป็นทางเลือก ซึ่งรวมถึงวัคซีนซิโนฟาร์มด้วยเช่นกัน เพราะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคน ต้องบอกว่าประเทศไทยโชคดีมากที่รัฐบาลยอมให้มีวัคซีนหลายชนิด เพราะฉะนั้น เรามีโอกาสเลือกวัคซีนฉีดให้กับประชาชนว่าจะใช้ชนิดไหนให้เหมาะสมที่สุด” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง