รีเซต

สิงห์เอสเตท ผุดนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง มูลค่าโครงการ 4 พันล้าน

สิงห์เอสเตท ผุดนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง มูลค่าโครงการ 4 พันล้าน
ข่าวสด
23 กันยายน 2564 ( 16:47 )
75

นายกำจร ลีประพันธ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท S.IF. จำกัด ในเครือสิงห์ เอสเตท เปิดเผยว่า สิงห์ เอสเตท เล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเติบโต ทำให้ล่าสุดได้ขยายการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง พื้นที่ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย กม.63 ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท

 

 

ทำเลที่ตั้งสะดวกต่อการขนส่งสินค้า ไปยังศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือ สถานีรถไฟ รวมทั้งท่าอากาศยาน และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันก๊าซและกังหันไอน้ำมาทำงานเป็นระบบร่วมกัน มีข้อดีคือให้กำลังการผลิตสูง มีความยืดหยุ่นในการเดินเครื่อง มลภาวะต่ำ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ที่สำคัญผลผลิตที่ได้เป็นกระแสไฟฟ้าทีมีคาร์บอนต่ำ จากโรงไฟฟ้า SPP 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 400 เมกกะวัตต์ พร้อมระบบจ่ายไฟฟ้า 22 กิโลวัตต์โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาตั้งโรงงานในนิคมฯ มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าทั่วไป ประมาณ 3%

ในส่วนของทรัพยากรน้ำ มีศักยภาพการผลิตน้ำประปา 9,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 384 ไร่ เทียบเท่าความจุ 6.12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และในอนาคตจะมีการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ อีกทั้งรองรับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ด้วยเครือข่ายโทรคมนาคม ระบบ 5G และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมทุกพื้นที่โครงการ

 

 

ภายในนิคมอุตสาหกรรม แบ่งเป็น เขตอุตสาหกรรมอาหาร และเขตอุตสาหกรรมทั่วไป โดยช่วงที่ 1 มีพื้นที่ 364.7 ไร่ และช่วงที่ 2 มีพื้นที่ 662.3 ไร่ เขตธุรกิจพื้นที่พาณิชยกรรม 34 ไร่ พื้นที่สีเขียวและสันทนาการ 147 ไร่ โรงไฟฟ้า พื้นที่ 77.4 ไร่ และระบบสาธารณูปโภครวม 215 ไร่ ซึ่งการก่อสร้างจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2566

 

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมถึงการนำเงินตราต่างประเทศออกนอกราชอาณาจักร และยังได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อีกด้วย และการออกแบบพัฒนาโครงการที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะ อุทกภัยเนื่องจากมีการนำข้อมูลสถิติมาใช้ในการวิเคราะห์ในการสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมล้อมรอบโครงการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง