รีเซต

จีนจัดงานเสวนาภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จีนจัดงานเสวนาภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
Xinhua
29 กันยายน 2564 ( 10:57 )
63

 

ปักกิ่ง, 28 ก.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (27 ก.ย.) สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งกรุงปักกิ่ง จัดงานเสวนาภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จีน-นานาชาติ กรุงปักกิ่ง ครั้งที่ 2 ขึ้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ปักกิ่ง เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนานวัตกรรม โดยมีภัณฑารักษ์และผู้เชี่ยวชาญเกือบ 20 คน ของสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องจากทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมงานผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์

 

 

หลี่เซี่ยงอี้ ผู้คว้ารางวัลคาลิงกา (Kalinga)  รางวัลทรงคุณค่าด้านวิทยาศาสตร์จากองค์การยูเนสโก (UNESCO)  อดีตภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน เชื่อว่ายุคปัจจุบันไม่ใช่ยุคของการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เท่านั้น แต่เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางความคิดด้วย

 

 

หลี่กล่าวว่าขณะที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบิ๊กดาต้าพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว พิพิธภัณฑ์ควรมุ่งเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน โดยเฉพาะคนอายุน้อย เช่น การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ที่เปิดกว้างสำหรับคนหมู่มาก  บูรณาการนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เข้ากับการทำให้วิทยาศาสตร์เป็นที่แพร่หลาย

 

 

หลินจื๋อหมิง ประธานสมาคมศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เอเชีย-แปซิฟิก และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์สิงคโปร์ กล่าวว่าท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ความสำคัญของการเผยแพร่และให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในระดับโลกยิ่งเด่นชัดขึ้น โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้การแสดงละครวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์เสมือนจริง และการเผยแพร่ข้อมูลในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อส่งเสริมความรู้วิทยาศาสตร์

 

 

หวังเสี่ยวหมิง ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่าแม้โรคระบาดจะเป็นอุปสรรค แต่เทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างโอกาสใหม่ให้พิพิธภัณฑ์ เขามองว่าพิพิธภัณฑ์เป็นผู้ผลิตและเผยแพร่องค์ความรู้ ส่วนกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจะนำไปสู่การบริโภควัฒนธรรมแบบใหม่ ตลอดจนความร่วมมือระดับภูมิภาค

 

 

ด้านหลูจินกุ้ย ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ระบุว่านิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ต่างมีผลลัพธ์ที่ดี

 

 

กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติไทย กล่าวว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานสำคัญในการทำให้วิทยาศาตร์แพร่หลาย และให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมแก่ประชาชน รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

 

การสร้างและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ควรยึดโยงกับประชาชน ทำความเข้าใจความต้องการของคนหลายช่วงวัย ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง การพัฒนาทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็ใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

 

 

ปัจจุบัน  โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลรุดหน้าไปมาก  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทุกขณะ เฉินเจี๋ย เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปักกิ่งระบุว่า ควรเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ  ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นที่แพร่หลาย ยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของประชาชน เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาสังคมมนุษย์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง