อุตสาหกรรมไมซ์อ่วม โควิดทุบ 1.4 แสนล้านบาท อีเวนต์หนักสุด
วันนี้รายการเศรษฐกิจ Insight พาไปดูธุรกิจไมซ์ของไทย ต้องยอมรับว่า ก่อนโควิด-19 ธุรกิจนี้เป็นดาวรุ่งของไทย ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว แต่การมาของโควิด-19 ภาพใหญ่กระทบการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง และเช่นกัน กระทบกับธุรกิจไมซ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ธุรกิจไมซ์ที่เคยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2 แสนล้านบาท แต่ ณ สิ้นปี 2564 มีการคาดการณ์กันว่า ธุรกิจจะเหลือ 6 หมื่นล้านบาท หรือสูญหายไป 1.4 แสนล้านบาท และในปี 2565 แนวโน้มยังคงลดลง และน่าเป็นห่วงที่สุดคือ ธุรกิจอีเวนต์ ซึ่งอาจได้จัดท้ายที่สุด
ก่อนอื่น พาคุณผู้ชมไปดูธุรกิจไมซ์ก่อน ว่ามีจิ๊กซอว์ตัวไหนที่ประกอบกัน แล้วเกิดขึ้นมาเป็นธุรกิจไมซ์บ้าง โดย 4 ธุรกิจหลักๆ ประกอบด้วย การจัดประชุม อบรม และสัมนา , การจัดนิทรรศการ , การจัดงานแสดงสินค้า และสุดท้ายคือการจัดงานเมกะอีเวนต์ งานอีเวนต์ใหญ่ๆ เช่น งานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ งานสงกรานต์ เป็นต้น
ซึ่งปีที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การ มหาชน) หรือ TCEB หน่วยงานหลักในการสนับสนุนในการจัดงาน 4 ประเภทหลักๆ นี้ มีการปรับรูปแบบ เพื่อให้สามารถจัดงานได้ผ่านระบบออนไลน์ 100% หรือ แบบไฮบริดจ์ ทั้งออนไลน์ และออนไซต์
ซึ่ง นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ TCEB ประเมินว่า 3 ธุรกิจแรก ทั้งการจัดการประชุม อบรม สัมนา , การจัดนิทรรศการ และการจัดงานแสดงสินค้า สามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า อาจจะได้จัดก่อน เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันโควิด-19
ส่วนธุรกิจอีเวนต์เอง น่าจะเป็นธุรกิจท้ายๆ ที่จะสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก
ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ปี 2562 หรือ ก่อนโควิด-19 มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท อย่างที่เกริ่นไป เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของไทย ทำให้ผู้ประกอบการที่พักแรมต่างๆ ไม่เพียงพัฒนาห้องฮับในการพักผ่อนเท่านั้น ยังมีการสร้างห้องประชุม สัมนา เก๋ๆ หลายแห่ง บางรายสร้างห้องประชุมลอยน้ำในเขื่อน ก็ยังมี เพื่อดึงดูดให้บริษัท ห้างร้านเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
แต่ในปี 2563 ปีแรกของโควิด-19 มูลค่าอุตสาหกรรมหายไปถึง 60% มูลค่าเหลือ 8 หมื่นล้านบาท แม้ในปีนั้นไทยจะมีมาตรการป้องกันโรคที่ดี ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงปีแรกของโควิด-19 มีไม่มากก็ตาม แต่ด้วยความเชื่อมั่น ทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมไมซ์ไทยหายไปกว่าครึ่ง
ขณะที่ในปี 2564 เป็นปีที่ไทยเผชิญโควิด-19 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระลอกที่ 2 คลัสเตอร์แพปลา สมุทรสาคร ในช่วงปลายปี 63 ต่อต้นปี 64 และสายพันธุ์เดลต้า ในเดือนเมษายน เป็นที่มาของมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ แม้จะมีมาตรการเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา แต่ต้องปิดอีกทั้งเมื่อเผชิญกับสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งปี 2564 ปรับลดลงลึกลงไปอีก เหลือ 6 หมื่นล้านบาท เท่ากับ 2 ปีผ่านไป อุตสาหกรรมไมซ์สูญรายได้ปี 2564 ไปถึง 1.4 แสนล้านบาท
ขณะที่ปี 2565 TCEB มีการประมาณการณ์ตัวเลขอุตสาหกรรมไมซ์ อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท และอาจต้องใช้เวลาอีก 3 ปี กว่ารายได้จะกลับมาอยู่ที่ระดับ 2 แสนล้านบาท เทียบเท่าก่อนโควิด-19
ธุรกิจไมซ์ว่ายากลำบากแล้ว ธุรกิจที่ยากลำบากมากที่สุด ก็น่าจะหนีไม่พ้นธุรกิจอีเวนต์ของไทย รายการเศรษฐกิจ Insight ได้สัมภาษณ์ คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) บริษัทอีเวนต์ยักษ์ใหญ่ของไทย และเคยขึ้นไปติดบริษัทอีเวนต์อันดับ 7 ของโลกมาแล้ว
คุณเกรียงไกร เปิดเผยว่า ช่วงก่อนโควิด-19 หรือ ปี 2562 ธุรกิจอีเวนต์ไทยมีมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท และในปี 2563 จากผลกระทบโควิด-19 และมาตรการจำกัดการเดินทาง เว้นระห่างทางสังคม ทำให้อุตสาหกรรมหายไปครึ่งหนึ่ง หรือ มีมูลค่าทั้งปี อยู่ที่ 7 พันล้านบาท เนื่องจากยังสามารถจัดงานในช่วงไฮซีซั่นต้นปี 2563 ได้ และสถานการณ์ก่อนสิ้นปี รัฐบาลสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดี จึงมีการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ บ้าง
แต่ในปี 2564 ผลกระทบโควิด-19 ต่อเนื่องทั้งปี ขณะที่ภาครัฐคุมเข้มมาตรการสาธารณสุข จึงมีเม็ดเงินในอุตสาหกรรม เป็นตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 3 พันล้านบาท เท่ากับ 2 ปี มูลค่าอุตสาหกรรมอีเวนต์จากที่เคยมีอยู่ที่ระดับ 1.4 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 3 พันล้านบาท สูญไปถึง 1 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ปี 2565 รัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 จากผลกระทบโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้การจัดงานอีเวนต์หลายแห่ง โดยเฉพาะของภาครัฐ ประกาศยกเลิกกิจกรรม ทั้งเคาท์ดาวน์ สวดมนต์ข้ามปี ไปจนถึงงานวันเด็ก และตรุษจีน ซึ่งภาคเอกชนหลายแห่งขอยกเลิกไปก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเริ่มพิสูจน์ได้ว่า มีการลดระดับความรุนแรงไปมาก ทำให้รัฐบาลฟื้นมาตรการ Test&Go ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเข้าไทยกลับมาใช้ใหม่ หลังจากชะลอการลงทะเบียนใหม่ไปช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ และอารมณ์ในการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าทั้งปี 2565 ธุรกิจอีเวนต์จะมีการฟื้นตัวขึ้น เม็ดเงินสะพัดราว 5 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอีเวนต์ไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีปัจจัยบวกทั้งการฟื้นมาตรการ Test&Go , ระดับความรุนแรงของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนลดลง เนื่องจากการฉีดวัคซีนของไทยที่คืบหน้าไปมาก
แต่หากมาดูปัจจัยลบในช่วงต้นปี 2565 เจ้าพ่ออีเวนต์ อย่างคุณเกรียงไกร ยืนยันว่า ผู้ประกอบการอีเวนต์ของไทย ซึ่งหากนับรวมตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย นับตั้งแต่งานบวช งานบุญ คนทำพิธี งานแต่งงาน ไปจนถึงงานคอนเสิร์ต งานอีเวนต์ประจำปี เทศกาลสงกรานต์ คนเหล่านี้เลิกกิจการไปมาก ส่วนใหญ่เปลี่ยนอาชีพกันไปหมดแล้ว เมื่อมีการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมจะมีการจ้างงานกลับมาทันต่อความต้องการหรือไม่
ขณะที่ต้นทุนในการจัดงานก็เพิ่มขึ้นราว 20-25% เนื่องจากมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น การกำหนดให้ทุกคนที่เข้าร่วมงานตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ก่อนเข้างานทุกคน อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีนอกเหนือจากหน้ากากอนามัย รวมไปถึงการจำกัดจำนวนคนเข้างาน ก็เป็นอีกหนึ่งในต้นทุนแฝงในการจัดอีเวนต์
ผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจในการจัดงานอีเวนต์ใหญ่ๆ สาเหตุสำคัญคือกังวลที่จะเป็นต้นตอในการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งอาจถูกสังคมกล่าวโทษได้ รวมถึงยังกังวลว่ารัฐจะมีมาตรการควบคุมอะไรอีกหรือไม่ เพราะการจัดอีเวนต์ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า มีการลงทุนก่อนการจัดงานไปแล้ว หากรัฐมีการสั่งควบคุมเพิ่ม ผู้จัดอาจต้องยกเลิกกิจกรรมในอีเวนต์ หรือแม้กระทั่งยกเลิกทั้งอีเวนต์เลยก็ได้
เมื่อถามถึงข้อเสนอ ซึ่งผู้ประกอบการอีเวนต์ จะสามารถสะท้อนไปยังภาครัฐได้ คุณเกรียงไกร แห่ง อินเด็กซ์ ครีเอทีฟฯ ขอให้รัฐบาลให้อนุญาตให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้แล้ว กิจการ กิจกรรมต่างๆ ควรกลับมาเป็นปกติ เพราะที่ผ่านมา 2 ปี ธุรกิจอีเวนต์พังพินาศ และสถานการณ์ปัจจุบัน โอมิครอน ไม่รุนแรง และไทยมีการฉีดวัคซีน นับเฉพาะเข็ม 3 ที่เป็นบูสเตอร์โดส ฉีดเพื่อป้องกันโอมิครอนโดยเฉพาะ ไทยมีอัตราการฉีดต่อประชากรสูงกว่าทั้งสหรัฐฯ และยุโรปไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลควรนำประเด็นนี้มาพิจารณาเปิดภาคธุรกิจเหมือนฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป
สำหรับงานอีเว้นต์สำคัญระดับโลก ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ปี 2565
1.Thailand International Health Expo 2022 (ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ เอ็กซ์โป 2022) วันที่ 17-20 มีนาคม 2565 มหกรรมแสดงศักยภาพความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขครั้งยิ่งใหญ่ของไทย เพื่อส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของโลก
2.RoboCup 2022, Bangkok, Thailand การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 วันที่ 11-17 กรกฎาคม 2565 การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกที่ริเริ่มจัดโดยสมาพันธ์ RoboCup นานาชาติ (International Robocup Federation) เพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ของโลก
3.TBEX Asia 2022 หรือ Travel Blog Exchange 2022 (ทราเวลบล็อกเอ็กซ์เชนจ์ 2022) 15-18 พฤศจิกายน 2565 เป็นงานอีเวนต์และการประชุมระดับโลกที่เป็นเวทีรูปแบบใหม่ของนักเขียน (Blogger) นักสร้างข้อมูล (Content Creator) บนสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวจากทั่วโลกมารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างเนื้อหาด้านการท่องเที่ยวบนสื่อสังคมออนไลน์
4.APEC 2022 Thailand (Asia-Pacific Economic Cooperation ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) งานสำคัญที่รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้
แน่นอนว่า งานอีเวนต์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จะก่อให้เกิดรายได้จากต่างประเทศ เข้ามายังประเทศไทย นักธุรกิจ บุคคลสำคัญต่างๆ ที่เข้ามา นำครอบครัว นำลูกน้องตามเข้ามาด้วย นี่จะเป็นเม็ดเงินที่เข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่ยากลำบากได้เป็นอย่างดี
แต่ทั้งนี้ยังตงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือมีสายพันธุ์ใหม่ๆ อีกหรือไม่ รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุขที่บังคับใช้และจะมีผลโดยตรงต่อการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ด้วย