รีเซต

ปภ.ชี้ พิษมู่หลาน ยังมี 2 จว.เจอท่วม ทำน้ำล้นตลิ่งอยุธยา

ปภ.ชี้ พิษมู่หลาน ยังมี 2 จว.เจอท่วม ทำน้ำล้นตลิ่งอยุธยา
มติชน
14 สิงหาคม 2565 ( 11:54 )
46
ปภ.ชี้ พิษมู่หลาน ยังมี 2 จว.เจอท่วม ทำน้ำล้นตลิ่งอยุธยา

ข่าววันนี้ 14 สิงหาคม 2565 เวลา 11.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานผลกระทบจากพายุมู่หลาน ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่รวม 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก นครพนม เลย และปราจีนบุรี 34 อำเภอ 109 ตำบล 609 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5,477 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เชียงราย) ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย และน่าน รวม 5 อำเภอ 18 ตำบล 98 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,074 ครัวเรือน สถานการณ์ภาพรวมระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัดที่ประสบภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าสำรวจความเสียหาย และให้การช่วยเหลือบื้องต้น

 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเมืองลางซอน สาธารณรัฐสังคมนิคมเวียดนาม และอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 11 – 14 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้มีพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง รวม 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก นครพนม เลย และปราจีนบุรี 34 อำเภอ 109 ตำบล 609 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5,477 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เชียงราย) ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย และน่าน รวม 5 อำเภอ 18 ตำบล 98 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,074 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ ดังนี้

 

1. เชียงราย ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่จัน และอำเภอแม่สาย รวม 5 ตำบล บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 666 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

 

2. น่าน ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าวังผา อำเภอภูเพียง และอำเภอเวียงสา รวม 13 ตำบล บ้านเรือนประชาชนได้รับ 408 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังในเขตพื้นที่อำเภอเมือง

 

จากสถานการณ์ฝนตกหนักในภาคเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 1,400 -1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นในอัตรา 1,000 – 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.60 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ดังนี้

 

3.พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาในพื้นที่อำเภอเสนา (ตำบลหัวเวียง บ้านกระทุ่ม บ้านโพธิ์ บ้านแพน ตะรางจระเข้) อำเภอผักไห่ (ตำบลบ้านใหญ่ ลาดชิด กุฎี ท่าดินแดง) อำเภอบางบาล (ตำบลวัดตะกู บ้านคลัง ทางช้าง น้ำเต้า) บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 600 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว จะได้เร่งสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

 

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง