รีเซต

โควิด-19: วัคซีน 2 พันล้านโดสกระจายไปส่วนไหนของโลก

โควิด-19: วัคซีน 2 พันล้านโดสกระจายไปส่วนไหนของโลก
ข่าวสด
2 มิถุนายน 2564 ( 10:49 )
54

 

นี่คือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นท่ามกลางเรื่องเลวร้ายในช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก

 

 

นับตั้งแต่เราค้นพบไวรัสมรณะชนิดใหม่ และประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ขณะนี้เราผลิตวัคซีนได้แล้ว 2 พันล้านโดสภายเวลาอันสั้นเป็นประวัติการณ์ เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด

 

 

หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ข่าวดีคือ น่าจะมีวัคซีนมากพอที่จะให้แก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ 5.8 พันล้านคนทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้

 

 

G

ข่าวร้ายก็คือ มีการผลิตกระจุกตัวอยู่เพียงแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ประกอบกับมีประเทศต่าง ๆ จำนวนหนึ่งที่กักตุนวัคซีนไว้ ทำให้แนวคิดที่ว่าควรมีการกระจายวัคซีนให้กับทุกคนต้องสะดุด

 

 

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่าไร นี่คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงวัคซีนในโลก

 

 

สถานที่ผลิตเป็นเรื่องสำคัญ

ตามการคาดการณ์ หลังจากเริ่มต้นอย่างทุลักทุเล คาดว่าการผลิตวัคซีนจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้

 

 

G

ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพโลกของมหาวิทยาลัยดยุค ในสหรัฐอเมริกา (Duke's Global Health Innovation Centre--GHIC) คาดว่า ยอดผลิตวัคซีนรวมอาจมีมากกว่า 1.2 หมื่นล้านโดสภายในปีนี้

 

 

Airfinity บริษัทด้านการวิเคราะห์ที่จับตามองการผลิตวัคซีนและปริมาณวัคซีน ประเมินว่า ปี 2021 จะผลิตวัคซีนได้มากกว่า 1.11 หมื่นล้านโดส

 

 

Airfinity ระบุว่า จำนวนวัคซีนเท่านี้เพียงพอที่จะฉีดให้แก่คนจำนวน 75% ของประชากรโลกที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจำเป็นต้องใช้วัคซีน 1.082 หมื่นล้านโดส

 

 

แต่การระบาดใหญ่กำลังเผยให้เห็นว่า "เราไม่มีเครือข่ายการผลิต การกระจายวัคซีนที่เหมาะสมทั่วโลก" แอนเดรีย เทย์เลอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ GHIC กล่าวกับ บีบีซี

 

 

"สถานที่ผลิตมีความสำคัญมาก กำลังการผลิตส่วนใหญ่ของเรากระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ และยุโรป และเป็นที่ที่มีคนได้รับวัคซีนก่อน เพราะพวกเขาผลิตวัคซีน พวกเขาสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ อย่าง การจำกัดการส่งออก เพื่อให้มั่นใจว่าประชากรของตัวเองได้รับวัคซีนก่อนตลาดโลก"

 

 

ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

ห่วงโซ่อุปทานการผลิตวัคซีนกำลังเผชิญกับอุปสรรคด้านวัตถุดิบ รวมถึงต้องใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ระดับนานาชาติ

 

 

ผลก็คือ หลายพื้นที่ที่ควรจะมีการผลิตวัคซีนเกิดขึ้น ยังคงไม่มีการใช้งาน (ดูแผนที่)

 

 

ส่วนวัคซีนเองก็กำลังได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดเหล่านั้นในหลากหลายรูปแบบ

 

 

Airfinity ประเมินว่า วัคซีน 3 บริษัทจะครองส่วนแบ่งในตลาดโลกมากที่สุดในปีนี้ ไฟเซอร์/ไบออนเทค 2.47 พันล้านโดส อ็อกซ์ฟอร์ด/แอสตร้าเซนเนก้า 1.96 พันล้านโดส และซิโนแวค 1.35 พันล้านโดส

 

 

จนถึงขณะนี้ทั้งไฟเซอร์และซิโนแวค ทำได้ตามเป้าหมายเบื้องต้นของตัวเองแล้ว

 

 

แต่แอสตร้าเซนเนก้า ประกาศในตอนแรกว่าจะผลิตวัคซีน 3 พันล้านโดสในปีนี้ การจะทำเช่นนั้นได้ ทางบริษัทต้องพึ่งพาพันธมิตรในการผลิตวัคซีนขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ

นางสาวเทย์เลอร์ กล่าวว่า "ปัญหาเหล่านี้ แอสตร้าเซนเนก้าใช้เวลานานกว่ามากในการแก้ไข"

 

"ฉันคิดว่า เรากำลังเห็นปัญหานี้กับวัคซีนตัวอื่น ๆ เหมือนกัน ที่กำลังพยายามหาทางในการถ่ายโอนเทคโนโลยีและหาพันธมิตรทั่วโลก มันใช้เวลานานขึ้นในการจัดการ"

 

 

ต่างจากไฟเซอร์และซิโนแวค ที่มีการผลิตวัคซีนเองตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

 

 

กักตุนวัคซีน

ข้อจำกัดที่ใช้กับการส่งออกยังส่งผลกระทบต่อการกระจายวัคซีนไปทั่วโลกด้วย

 

 

Ge

 

แมตต์ ลินลีย์ นักวิเคราะห์อาวุโสของ Airfinity กล่าวกับบีบีซีว่า ปัญหาเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ

 

"คาดว่าไฟเซอร์จะผลิตวัคซีนส่วนใหญ่ได้ แต่วัคซีนเหล่านี้จะส่งไปให้กับประเทศที่ร่ำรวยที่สั่งซื้อ ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า กำลังมีการผลิตจำนวนมากในยุโรปและอินเดีย แต่วัคซีนที่ผลิตก็จะอยู่ที่นั่น" เขากล่าว

 

 

จากข้อมูลของ Airfinity มีเพียงจีนเท่านั้นที่ส่งออกวัคซีนในจำนวนมาก โดยส่งออกไปต่างประเทศแล้ว 263 ล้านโดส แซงหน้า โคแวกซ์ (Covax) หรือ โครงการจัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศที่ยากจนที่นำโดยสหประชาชาติ

 

 

"จีนกำลังมีอิทธิพลอย่างมาก" ในการกระจายวัคซีน ส่วนรัสเซีย "รับปากไว้จำนวนมากแต่ยังไม่ได้ส่งมอบ" นายลินลีย์ กล่าว

 

 

 

Airfinity ระบุว่า จนถึง 17 พ.ค. วัคซีนสปุตนิก วี ของรัสเซีย มีการผลิตแล้วมากกว่า 42 ล้านโดส ในจำนวนนี้ส่งออกไป 13 ล้านโดส

 

 

วัคซีนสปุตนิก วี กำลังเผชิญข้อจำกัดแบบเดียวกันที่เกิดจากข้อตกลงในการถ่ายโอนเทคโนโลยี ตอนแรกรัสเซียทำสัญญากับที่ต่าง ๆ ทั่วโลก 18 แห่งในการผลิตวัคซีน แต่มีเพียงหนึ่งแห่งในคาซัคสถานเท่านั้น ที่กำลังผลิตวัคซีนนี้นอกประเทศรัสเซีย

 

 

เจ้าหน้าที่ทางการอินเดีย ประกาศว่า จะมีการผลิตวัคซีนสปุตนิก วี ในอินเดียตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายการผลิตที่ 850 ล้านโดส

 

 

"ไม่มีแผนสำรอง"

ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากในโลกกำลังพึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ซึ่งผลิตวัคซีน 60% ของทั้งโลกในแต่ละปีในช่วงที่ไม่มีการระบาดใหญ่

 

 

แต่อินเดียเริ่มมีข้อจำกัดด้านการส่งออกวัคซีนเพื่อต่อสู้กับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในอินเดียเองที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ปริมาณวัคซีนที่เดิมจะส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำถูกตัดลดลง

 

 

Ge

 

 

"การพึ่งพาอินเดียมากเกินไปทำให้ปริมาณวัคซีนทั่วโลกมีความเปราะบาง" นางสาวเทย์เลอร์ กล่าว

 

 

"ความล้มเหลวของแผนการนี้จะส่งผลกระทบรุนแรง และไม่มีแผนการสำรองเลย ไม่มีสถาบันเซรุ่มที่อื่นในโลกนี้อีกที่สามารถผลิตได้"

 

 

ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบต่อโครงการโคแวกซ์ ด้วยซึ่งจะต้องส่งวัคซีนให้แก่ประเทศที่ยากจนและทำให้การกระจายวัคซีนทั่วโลกมีความสมดุล

 

 

โคแวกซ์ มีเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนราว 2 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 เพื่อให้ประชากรอย่างน้อย 20% ของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการได้รับวัคซีน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนเป็นลำดับแรก อย่าง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

 

 

แต่จนถึงขณะนี้ ยูนิเซฟ ระบุว่า โคแวกซ์ส่งวัคซีนแล้วเพียง 72 ล้านโดสให้แก่ 125 ประเทศ

 

 

การแบ่งปันวัคซีน

แม้ว่าจะมีการพูดถึง "การทูตวัคซีน" และ "น้ำใจวัคซีน" แต่มีไม่กี่ประเทศที่เต็มใจหรือมีความสามารถในการส่งวัคซีนไปให้ต่างประเทศ

G

 

 

ถ้าการส่งมอบวัคซีนเป็นไปตามกำหนดการ Airfinity ประเมินว่า ภายในสิ้นปี 2021 จะมีวัคซีนส่วนเกินคงค้างอยู่ 2.6 พันล้านโดสทั่วโลก ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าเป้าหมายการส่งมอบวัคซีนทั้งหมดของโคแวกซ์ในปี 2021

 

 

สหภาพยุโรปและอีก 5 ประเทศ (สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร, บราซิล และแคนาดา) จะครอบครองวัคซีนส่วนเกินเหล่านั้นมากกว่า 90% ของทั้งหมด

 

 

นายลินลีย์ กล่าวว่า การแบ่งปันวัคซีนเหล่านั้นผ่านโครงการโคแวกซ์จะช่วยทำให้โครงการนี้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และทำให้กลุ่มคนเปราะบางในแต่ละประเทศได้รับการคุ้มครอง

 

 

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะรัฐบาลประเทศที่มีรายได้สูงบางแห่งกำลังพิจารณาที่จะฉีดวัคซีนกระตุ้นให้แก่ประชากรของตัวเองอยู่ และเพิ่มการให้วัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มวัยรุ่น

"หลายประเทศที่รุดหน้าในด้านการให้วัคซีนแก่ประชาชน ได้ทำข้อตกลงทวิภาคีไว้มากกว่าจำนวนประชากรของตัวเอง" แอนน์ อ็อตโทเซน ซึ่งเป็นผู้จัดการอาวุโสของศูนย์วัคซีนยูนิเซฟ กล่าวกับบีบีซี ผ่านทางอีเมล

 

 

GHIC ระบุว่า จนถึง 21 พ.ค. 54% ของคำสั่งซื้อวัคซีนทั้งหมดมาจากประเทศที่มีรายได้สูง ขณะที่ประชากรของประเทศเหล่านี้คิดเป็น 19% ของประชากรโลก

 

 

"ประเทศที่มีรายได้สูงจำเป็นต้องแบ่งปันวัคซีนของพวกเขาให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำในระยะสั้นเพื่ออุดช่องว่างของปริมาณวัคซีน" นางสาวอ็อตโทเซน กล่าว

BBC

หลายประเทศยังรีรอที่จะตอบรับข้อเรียกร้องนี้

 

 

สหรัฐฯ ประกาศแล้วว่า จะแบ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดส ซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า จะมีการส่งวัคซีนที่ได้รับการรับรองในสหรัฐฯ แล้วอีก 20 ล้านโดสด้วย

 

 

ฝรั่งเศส ระบุว่า จะบริจาควัคซีน 500,000 โดส ให้แก่โคแวกซ์ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้

 

 

"เราอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนา การผลิต และการส่งมอบวัคซีน ปริมาณมากที่สุดและเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ การเข้าถึงวัคซีนเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดที่เราเผชิญ" นางสาวอ็อตโทเซน กล่าว

 

 

ขณะที่ผู้นำด้านสาธารณสุขโลกกำลังหารือกันถึงวิธีการต่าง ๆ ในการกระจายการผลิตโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เพื่อให้มีการกระจายวัคซีนไปทั่วโลกได้ตามความต้องการ แต่ในระยะสั้นนี้มีทางเลือกไม่มากนัก

 

 

"ในการยุติการระบาดใหญ่ ปริมาณวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะนี้จำเป็นต้องมีการกระจายที่ดีขึ้นเพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้น" นางสาวอ็อตโทเซน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง