รีเซต

กรมอุทยาน-จุฬา-ม.เกษตร ประสานเสียง ค้างคาวในไทย แค่ รหัสพันธุกรรมคล้าย โควิด19 ยัน ไม่ติดต่อสู่คน

กรมอุทยาน-จุฬา-ม.เกษตร ประสานเสียง ค้างคาวในไทย แค่ รหัสพันธุกรรมคล้าย โควิด19 ยัน ไม่ติดต่อสู่คน
มติชน
1 มีนาคม 2564 ( 17:24 )
89
กรมอุทยาน-จุฬา-ม.เกษตร ประสานเสียง ค้างคาวในไทย แค่ รหัสพันธุกรรมคล้าย โควิด19 ยัน ไม่ติดต่อสู่คน

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ แถลงข่าว “ไขปริศนาโควิด-19 กับสัตว์ป่า” โดยกล่าวว่า กรมอุทยานฯ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าประเทศไทยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยค้างคาวอย่างน้อย 146 ชนิด ทั่วประเทศ และพบสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาจากค้างคาวมากกว่า 400 ตัวอย่าง ทั้งที่เป็นไวรัสเดิมที่พบทั่วโลก และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีรายงานก่อโรคในคน ทั้งนี้แม้ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบการติดเชื้อในคน แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนให้มีการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ไปยังสัตว์อื่นที่อาจกลายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ในอนาคต รวมทั้งติดต่อสู่คนได้โดยตรง ซึ่งการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ป่ามาสู่คนนั้น อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด การปนเปื้อนเชื้อโรคจากซากสัตว์ป่า หรือการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า ดังนั้นการป้องกันคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่า งดล่าหรือการบริโภคสัตว์ป่าและไม่บุกรุก ทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

 

 

นางรุ่งนภา กล่าวต่อว่า สำหรับการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอุบัติใหม่และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ 1. การสำรวจไวรัสโคโรนาและเชื้อโรคอุบัติใหม่ในค้างคาวอีก 23 ชนิด รวมทั้งสัตว์ป่าของกลาง สัตว์ป่าพลัดหลง และสัตว์ป่าในธรรมชาติ 2.วางมาตรการความปลอดภัยในการท่องเที่ยวที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ 3.มาตรการความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับสัตว์ป่า เป็นต้น

 

รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์

 

ด้าน นส.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เรื่องการสำรวจและเฝ้าระวังเชิงรุกในค้างคาวและลิ่น ที่มีการตีพิมพ์ในวาระสาร Nature แล้วมีการนำไปอ้างอิงที่คลาดเคลื่อน เป็นการศึกษาวิจัยเชิงรุก ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาว ที่พบว่ามีรหัสพันธุกรรมคล้ายคลึง กับโควิด 19 นั้น ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่พบไม่สามารถติดต่อมาสู่คนได้โดยตรง งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ กรมอุทยานฯ เพื่อค้นหาต้นตอของไวรัส SARs-C0V-2 ในค้างคาวมงกุฎ ซึ่งจากรายงานการวิจัยของประเทศจีนที่เผยแพร่เพื่อเดือน มกราคม 2563 ว่าพบเพื่อไวรัสคล้าย SARS-CoV-2 ในค้างคาวมงกุฎเทาแดงที่ประเทศจีน ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมคล้ายกับที่พบในมนุษย์ถึง 96% และเป็นไวรัสที่มีความสามารถในการเข้าเซลมนุษย์ผ่าน ACE-2 receptor ได้นั้น ก่อให้เกิดคำถามต่อมาว่าในประเทศไทยจะมีการพบไวรัสในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ และจะมีโอกาสเป็นต้นตอของโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ในไทยหรือไม่

 

 

นส.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ในเดือน มิถุนายน 2563 ได้ลงพื้นที่สำรวจค้างคาวมงกุฎในหลายพื้นที่ และถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่ จึงทำการจับค้างคาว 100 ตัว และเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด พบว่าไวรัสมีลักษณะคล้าย SARS-COV-2 ที่ก่อโรคในมนุษย์ 91% โดยเป็นกลุ่มไวรัสที่ไม่มีความสามารถในการเข้าเซลมนุษย์ผ่านตัวรับ ACE-2 ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นไวรัสที่ยังไม่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้ นอกจากนี้การสำรวจไวรัส SARS-COV-2 ในลิ่นพลัดหลงไม่ทราบแหล่งที่มา จำนวน 10 ตัว ไม่พบสารรหัสพันธุกรรมไวรัสจากมูลและน้ำลายของลิ่นทั้ง 10 ตัว แต่ตรวจพบ ลิ่นจำนวน 1 ตัว มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS-COV-2 จากการตรวจพบ Neutralizing antibody หรือสารแอนติบอดีที่แสดงลิ่นตัวดังกล่าวเคยติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันมาแล้ว อย่างไรก็ตามเวลานี้ยังไม่มีการยืนยันว่าค้างคาวหรือลิ่นเป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำลังตรวจสอบอยู่

นส.สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอแนะคือ 1. ควรมีการสำรวจเชื้อไวรัส SARS-COV-2 ในค้างคาว และลิ่น รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ 2. งดการล่า-ค้าสัตว์ป่า เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคอุบัติใหม่ และ 3. งดการบุกรุกและทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

 

สมปอง ทองสีเข้ม

 

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า จากกรณีสื่อต่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลว่า ตลาดนัดจตุจักร อาจเป็นต้นกำเนิดนำเชื้อโควิด – 19 ก่อนอู่ฮั่น นั้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง โดยตลาดในเขตพื้นที่นั้นคือ ตลาดศรีสมรัตน์ เป็นตลาดเอกชนที่อยู่ ข้างเคียงกับตลาดนัดจตุจักร เป็นตลาดจำหน่ายสัตว์เลี้ยง สัตว์ปีก ปลาสวยงาม ที่มีการลักลอบค้าสัตว์ป่าในอดีต โดยวันที่ 20 มีนาคม 2563 กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้ สำรวจชนิดสัตว์ที่มีการค้าในจตุจักรว่ามีการลักลอบค้าสัตว์ป่าหรือไม่ พร้อมทั้งร่วมลงพื้นที่ทำความสะอาด ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และสุ่มเก็บตัวอย่างเชื้อโรคจากสัตว์ที่มีการค้าในตลาดนัดสวนจตุจักร เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสระดับวงศ์ (Family) ในกลุ่ม Paramyxovirus และ Coronavirus พบว่า 1.กระรอก พบเชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus กลุ่มย่อยชนิด Alpha (ไม่ติดสู่คน) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ COVID-19 ที่อยู่ในกลุ่มย่อยชนิด Beta 2. กลุ่มแมว พบ เชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus กลุ่มย่อยชนิด Alpha (ไม่ติดสู่คน) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ COVID-19 ที่อยู่ในกลุ่มย่อยชนิด Beta เชื้อไวรัสในกลุ่ม Paramyxovirus 3. สุนัข พบเชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus กลุ่มย่อยชนิด Alpha (ไม่ติดสู่คน) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ COVID-19 ที่อยู่ในกลุ่มย่อยชนิด Beta 4.กลุ่มหนู ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 5. เม่นแคระ ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม

 

6. กระต่าย ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 7. ลิงมาโมเสท ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 8. ชูการ์ไกลเดอร์ ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 9. เมียร์แคท ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 10. หมูแคระ ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 11. แพรี่ด็อก ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 12. ชินชิล่า ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง