ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองพุ่ง อัตรา 1 ต่อ 4 ของจำนวนประชากร
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ สหวิชาชีพด้านต่างๆ และชมรมคนรู้ทันอัมพาตที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดงานวันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) ประจำปี 2567 ในประเด็น ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดเป็นครั้งที่16 ติดต่อกันในการสร้างความตระหนักรู้และป้องกันโรคหลอดเลือดสมองให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ รักษาได้และฟื้นฟูได้
นพ.พงศ์ภัทร์ วรสายัณห์ อาจารย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุถึงสถานการณ์ของโรคหลอดเลือดสมอง ว่า ปัจจุบันแนวโน้มของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญ โดยพบมีอัตรา 1 ใน 4 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก หรือ World Stroke Organization ( WSO) จึงได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหลอดเลือดสมองโลก
โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการและการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก เป็นโรคที่ทำให้มีการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยทั้งในเพศชายและเพศหญิง
โดยสถานการณ์โรคในประเทศไทย แนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ที่น่าห่วงกังวล คือ ช่วงอายุในการเกิดโรคน้อยลงจากเดิมที่ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 60-70 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ดังนั้นหากประชาชนมีความรู้และดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมก็จะลดความเสี่ยงในการก่อเกิดโรคสมองได้ถึงร้อยละ 90
ข้อมูล จาก ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พบว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วย รายใหม่ที่เข้ารักษาด้วยโรคหลอดเลือดสมองอยู่ประมาณ 600-800 คนต่อปี และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี
สำหรับปัจจัยในการก่อเกิดโรคมีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น ในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเดิมอยู่แล้ว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ หรือในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ การป้องกันต้องควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดการใช้สารเสพติดทุกชนิด หลีกเลี่ยงความเครียดพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
สิ่งสำคัญในการป้องกันการโรคหลอดเลือดสมองได้ คือ การดูแลสุขภาพ ทั้งเรื่องอาหารลดหวาน มัน เค็ม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นปัจจัยสำคัญในการลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
สำหรับอาการหรือสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดไม่ออก ปากตก ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน แขน ขา อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ออกทันทีทันใด เริ่มมองไม่เห็น หากพบว่า ตนเองเริ่มมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาโรงพยาบาลทันทีโดยเร็ว ภายใน 4 ชั่วโมง หากพบแพทย์ช้า อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออาจจะกลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
ส่วนการรักษาในปัจจุบัน หากผู้ป่วยมีอาการเสี่ยงเข้าข่ายในการก่อเกิดโรคแพทย์ก็จะทำการประเมินโรค ว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด หรือ ภาวะเลือดออกในสมอง หรือโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งแต่ละประเภทจะให้การรักษาและให้ยาที่แตกต่างกัน และในช่วงที่ผ่านมา 5-6 ปี ได้มีการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่มารักษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วย