จังหวัดชัยนาท เผชิญทั้งอากาศร้อนทั้งภัยแล้งต่อเนื่อง บึงน้ำแทบแห้งขอด
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดยาวนานในพื้นที่ จ.ชัยนาท ทำให้เกิดความแห้งแล้งลุกลามขยายนวงออกไปมากขึ้น โดยที่บึงหนองเสือ 1 ในพื้นที่ ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท แหล่งน้ำชุมชน ซึ่งเป็นบึงบัวขนาด 2 ไร่ ที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งน้ำดิบทำการเกษตรรดน้ำผัก พืชสวน และให้สัตว์เลี้ยงดื่ม ซึ่งจากภัยแล้งที่คุกคามต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันน้ำในบึงเหลือเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ระดับน้ำลดต่ำกว่าตลิ่งเกือบ 2 เมตร คาดว่าถ้าภายใน 1 เดือนไม่มีฝนตกลงมาเติม ปริมาณน้ำที่มีอยู่จะแห้งขอดจนไม่สามารถใช้งานได้
ขณะที่สถานการณ์น้ำที่ เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลุ่มภาคคกลาง ล่าสุดได้เพิ่มการระบายน้ำขึ้นไปที่อัตรา 95 ลบ.ม./วิ (ลูกบาศเมตรต่อวินาที) เพื่อผลักดันน้ำเค็มปากแม่น้ำ รักษาระบบนิเวศลำน้ำ และบรรเทาปัญหาภัยแล้งพื้นที่ท้ายเขื่อน ขณะที่ปริมาณน้ำเหนือเริ่มมีปริมาณที่คงตัวต่อเนื่อง โดยที่จุดวัดน้ำ C2 หน้าค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยาวัดได้ 292 ลบ.ม./วิ
ขณะที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อ ล่าสุดวัดได้ 14.27 ม.รทก.(เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่ามาตรฐานกักเก็บ 16.50 ม.รทก.เข้าสู่วันที่ 159 (ล่าสุดที่ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์คือ 28 พ.ย. 66) และจากที่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำลงท้ายเขื่อน ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนยกตัวขึ้นเล็กน้อย ล่าสุดวันนี้วัดได้ 5.75 ม.รทก. ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้เน้นการผันน้ำเข้าทุ่งทั้ง2ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่เพื่อการอุปโภคบริโภค และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวม 165 ลบ.ม./วิ
ฝั่งตะวันออกผันน้ำผ่านคลองชัยนาทป่าสัก คลองช่องแค และคลองมหาราช รวม 75 ลบ.ม./วิ ส่วนฝั่งตะวันตกผันน้ำผ่านคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย รวม 99 ลบ.ม./วิ ซึ่งจากสถานการณ์น้ำล่าสุด ทางราชการจึงย้ำขอความร่วมมือเกษตรกร ขอให้งดการทำนาต่อเนื่อง ถ้าจะทำการเพาะปลูกขอให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ประชาชนทั่วไปขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะประเทศไทยยังจะต้องได้รับอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะทำให้ฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ไปจนถึงเดือนมิ.ย.
ภาพจาก ผู้สื่อข่าวจังหวัดชัยนาท