คนดีต้องมีที่ยืน โลกต้องดีกว่า : ธนาคารออมสิน ธนาคารแห่งความโปร่งใสและลดความเหลื่อมล้ำ
คนดีต้องมีที่ยืน โลกต้องดีกว่า : ธนาคารออมสิน ธนาคารแห่งความโปร่งใสและลดความเหลื่อมล้ำ
"ท่ามกลางเรี่ยไรเงิน ท่ามกลางส่งยอดการทำบุญ No Gift คือ No Gift No Gift ของเราคือ No Gift จริงๆ"
"ผมเชื่อว่าการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่ดี พื้นฐานสำคัญคือเรื่องของความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ธนาคารออมสินเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เรามีทรัพยากรทั้งในเรื่องงบประมาณ กำลังคนจำนวนมาก เรามีขอบเขตการทำธุรกิจหลากหลายมาก เพราะเราต้องระมัดระวังเรื่องนี้มาก
เพราะฉะนั้นเรื่องของการให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต บริหารองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐานสำคัญ และเป็นเรื่องจริงของที่นี่ เราไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อเอาไว้เป็นนโยบายสวยหรู และไม่ได้มีการบังคับใช้ เราบังคับใช้ให้เกิดเรื่องจริงที่ออมสิน" นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดใจถึงเรื่องราวการบริหารองค์กร
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ตั้งต้นก่อนทุกอย่างอยู่ที่งบประมาณ การตั้งงบประมาณถูกปรับลดลงมาก อย่างงบประมาณปัจจุบันถูกตั้งให้ลดลงกว่าในช่วงสมัยอดีตมาก ปีหนึ่งลดลงมาก 8,000-9,000 ล้านบาทต่อปี และลดลงไปเรื่อยๆ งบประมาณที่ลดลงถ้าตั้งลด มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและประหยัดและจะเกิดความโปร่งใสอันนี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้น
ธนาคารออมสินปรับงบประมาณลดลงมากกว่าในอดีตมากถึง 8,000-9,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการปรับลดงบประมาณลงนี้ ทำให้ธนาคารออมสินเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีการนำเงินส่วนหนึ่งไปทำงานด้านสังคมอย่างจริงจัง ทำให้ธนาคารออมสินได้ขึ้นชื่อว่าเป็นธนาคารเพื่อสังคม
ธนาคารออมสินทำอย่างไร ในขณะที่ปรับงบประมาณน้อยลงแต่ก่อให้เกิดกำไรมากขึ้น และที่สำคัญยังมีเงินนำไปช่วยสังคม
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เล่าต่อว่า กระบวนการใช้งบประมาณถูกเปลี่ยนหมด จากแต่เดิมซึ่งตั้งงบประมาณแล้วไม่มีหน่วยงานมากลั่นกรองมากมายนัก จากนี้ไปที่ผ่านมาการใช้งบประมาณมีการกลั่นกรองมาก งบบางส่วนถ้ามีความซับซ้อนอย่างเช่น งบเรื่องไอทีหรือดิจิทัลต้องเอาคนนอกเข้ามาช่วยตรวจสอบ ช่วยให้ความเห็นว่าสมควรทำและทำในมูลค่าที่เหมาะสม
"เรื่องอื่นต้องมีคณะทำงาน มีคณะกรรมการเข้ามากลั่นกรองทั้งหมด เพราะฉะนั้นกระบวนการใช้งบประมาณถูกเปลี่ยน การแต่งตั้งคณะกรรมการทำทีโออาร์ คณะทำงานจัดซื้อจัดจ้าง คณะทำงานตรวจรับ ถูกเปลี่ยนทั้งหมด เพื่อให้กระบวนการดีขึ้น โปร่งใสขึ้น และมีการถ่วงดุลมากขึ้น ควบคู่กับการตั้งงบประมาณที่ลดลง อันนี้ผมว่าเป็นจุดเริ่มต้น ส่วนที่เหลือการทำธุรกิจโดยทั่วไปของธนาคารคือเรื่องการให้สินเชื่อ การลงทุน และมีนโยบายที่ใส่เพิ่มขึ้นและเข้มงวดมากขึ้น"
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เล่าต่ออีกว่า เราหลีกหนีการถูกแทรกแซงในการปล่อยสินเชื่อ การถูกแทรกแซงหรือการทำสิ่งที่ไม่ดี มีผลประโยชน์ของการทำสินเชื่อหรือการลงทุน ใส่นโยบายเป็นเกราะป้องกันไว้ว่าธุรกิจไหนทำได้ ธุรกิจไหนห้ามทำ เพราะมันอาจจะไม่เหมาะความเสี่ยงของเรา หรือเป็นธุรกิจอาจจะมีความน่าสงสัยในการทำธุรกิจหรือการให้สินเชื่อหรือการลงทุน ใส่เกราะป้องกันนี้ไว้ 3 ปีที่ผ่านมาผมคิดว่าเราเดินอย่างนี้ได้ หน่วยงานเราก็จะมีความโปร่งใสมากขึ้น
"แต่ท้ายที่สุดองค์กรขนาดใหญ่อย่างออมสินเรามีคนอยู่ 22,000 คน สาขา 1,040 สาขาทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นท้ายที่สุดไม่ว่าจะใส่งบประมาณลดลง มีกระบวนการมากขึ้นหรือมีขอบเขตการทำธุรกิจที่รัดกุมและห้ามทำในสิ่งที่ไม่ควรทำแล้ว
ท้ายที่สุดคือเรื่องของวัฒนธรรมของคนในองค์กรต้องปลูกฝังวัฒนธรรมเรื่องธรรมาภิบาล เราห้ามทุกอย่างที่เป็นเรื่องที่รู้สึกขัดแย้งกับคอนเซปต์หรือหลักการ เหล่านี้คือวัฒนธรรม ค่อยๆ ใส่ ค่อยๆ สร้าง มันไม่สามารถพลิกเดียวเสร็จได้ทันที ค่อยๆ ใส่ ค่อยๆ สร้าง แล้ววัฒนธรรมนี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นและจะอยู่ยาวกับองค์กรตลอดไป สิ่งนี้เป็นหลักความเชื่อของผม
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกอีกว่า เราปรับธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคมมาประมาณ 3 ปี ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในธนาคาร วิธีการทำธุรกิจชัดเจนมาก ในข้างหนึ่งเราทำธุรกิจปกติเหมือนธนาคารทั่วไป เราทำสินเชื่อบ้าน มีเราสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ รับฝากเป็นปกติ
เราทำธุรกิจส่วนนี้ควบคู่กับการลดต้นทุนอย่างรุนแรงของธนาคารเพื่อให้เกิดการประหยัด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ส่วนนี้ทำให้เรามีกำไรสูงขึ้น เอากำไรส่วนที่สูงขึ้นไปสนับสนุนการทำภารกิจสังคม ซึ่งภารกิจนี้ก็ช่วยคน ช่วยคนจน ช่วยคนฐานราก ช่วยพ่อค้าแม่ค้า ช่วยเอสเอ็มอี ทำให้การทำภารกิจ 2 ด้านของเราสามารถทำได้ค่อนข้างดี ธุรกิจปกติก็ทำได้ เอากำไรจากธุรกิจปกติที่เพิ่มขึ้นมาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม
ในภาพรวมออมสินก็มีกำไรสูงขึ้น เรามีกำไรสูงขึ้นมากแม้กระทั่งก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ก็สูงขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก และมีเงินสำรองที่ค่อนข้างแข็งแรงเป็นประวัติการณ์
"เราพยายามจะเข้าไปแก้ปัญหา บรรเทาปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการเงิน เราพยายามเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยากจน อย่างน้อยก็บรรเทาปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ บรรเทาปัญหาเรื่องความยากจน การเป็นธนาคารเพื่อสังคมเรามีเป้าหมายปลายทางของเรา เราอยากจะแก้ปัญหาหรือบรรเทาปัญหา 2 เรื่อง เรื่องแรกคือบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงิน การแก้ปัญหาความยากจน ก็เป็นเป้าหมายเป็นปลายทางของเรา"
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เล่าต่อว่า เราก็พยายามทำ 3 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องแรกดึงคนเข้าสู่ระบบ คนฐานราก พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กๆ ปกติจะเข้าสู่ระบบทางการเงินยาก ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินปกติได้ ส่วนมากก็ไปกู้หนี้นอกระบบ ไปเพิ่งขายฝากบ้างอะไรบ้าง เราดึงเขาเข้าสู่ระบบ เรารับความเสี่ยงที่สูงขึ้น เราช่วยเขาในเรื่องนี้
อีกเรื่องหนึ่งบางส่วนอยู่ในระบบก็จริง แต่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง เช่นความเสี่ยงสูงขึ้นแต่โดนดอกเบี้ย 25% 30% 33% บางที 36 % และเราก็เห็นว่าบางผลิตภัณฑ์หรือบางอุตสาหกรรมอาจจะมีกำไรสูงขึ้นเกินจริง เราก็เข้าไปแข่งขันเพื่อให้ดอกเบี้ยมันลดลงมา การแข่งขันก็ทำให้ระบบตลาดทำงานได้เต็มที่ ลดดอกเบี้ยลงมาก็เป็นการช่วยคนกลุ่มนี้ให้จ่ายเงินเท่ากัน แต่ว่าเงินไปตัดต้นได้มากขึ้น แก้ปัญหาให้เขา แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพรวมได้ด้วยอันนี้ก็เป็นเรื่องที่สอง
ส่วนเรื่องที่สาม การสร้างอาชีพ ในช่วงโควิด-19 คนตกงานเยอะ คนกลับถิ่นฐานเยอะจำนวนมาก เอาเขามาฝึกอาชีพ สร้างอาชีพ ร่วมมือกับพันธมิตรหลายหน่วยงาน มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อาชีวะทั่วประเทศ และหน่วยงานด้านต่างๆ ฝึกอาชีพและให้สินเชื่อด้วย ให้เงินสนับสนุนด้วย ทำให้เขามีรายได้ มีอาชีพที่ยั่งยืน
เราเชื่อว่า 3 วิธีการนี้ดึงคนเข้าสู่ระบบดอกเบี้ยก็จะถูกลง เพราะดอกเบี้ย สินเชื่อหนี้นอกระบบมันแพงอยู่แล้ว เข้าไปแข่งขันลดดอกเบี้ยในบางตลาด เข้าไปช่วยเสริมสร้างให้เขามีอาชีพ ให้มีรายได้ที่ยั่งยืน 3 เรื่องนี้เราเชื่อว่าจะเป็นการลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางการเงินและแก้ปัญหาความยากจนได้บางส่วน
"จริงๆ ต้องบอกว่าการฝึกอาชีพอาจไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของธนาคาร แต่ว่าในช่วงโควิด-19 เราเห็นปัญหาจริงๆ ว่า คนตกงานเยอะ คนก็ออกจากธุรกิจ ภาคบริการธุรกิจส่วนนี้ปิดเลย คนที่ทำธุรกิจนี้ก็กลับเข้าสู่ต่างจังหวัด คนกลุ่มนี้ก็ตกงาน การฝึกอาชีพเลยเป็นภารกิจ เป็นโครงการใหม่ที่ทำขึ้นมา
ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภารกิจหลักของธนาคารต้องยอมรับก่อน เป็นภารกิจของหน่วยงานอื่นๆ แต่เรามีศักยภาพ เรามีเครือข่ายสาขา เรามีทรัพยากร ก็เข้าไปช่วย ฝึกอาชีพร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัย อาชีวะศึกษา สอนเขาเป็นช่าง กลายเป็นเป็นช่างชุมชน ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างมอเตอร์ไซค์ แล้วก็เปิดธุรกิจขึ้นจริง คนไหนที่ฝึกอาชีพไปแล้วมีกำลังกู้ได้ เราก็ให้กู้ได้ เขามีอาชีพขึ้นมา มีรายได้ที่ยั่งยืนขึ้น หรือเราก็สนับสนุนเป็นโครงการ CSR ในเรื่องของอุปกรณ์บางส่วนเข้าไปได้"
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เล่าต่ออีกว่า แต่ไม่ใช่ว่าหมดโควิด-19 แล้ว ปัญหา 2 อันนี้หายไป ความยากจน ความเหลื่อมล้ำก็ยังอยูู่ เพราะฉะนั้นความเป็นธนาคารเพื่อสังคมก็ยังต้องทำหน้าที่นี้ต่อไป ขยายขอบเขตให้กว้างขวางขึ้น ขยายขอบเขตการทำธุรกิจช่วยคนให้ลึกมากขึ้น
เพราะฉะนั้นก็ตอบชัดเจนว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการธนาคารเพื่อสังคม แบงก์เองก็ต้องกำไร มีความแข็งแรง ทำหน้าที่ส่งเงินกำไรให้กับรัฐบาล เราเป็นรัฐวิสาหกิจที่ส่งกำไรให้รัฐบาลสูงสุดต่อแต่ละปีอันดับ 3 อันดับ 4 ให้มีงบประมาณไปใช้พัฒนาประเทศ อีกข้างหนึ่งก็ช่วยคนได้ภายใต้ภารกิจเชิงสังคม ส่วนนี้ก็ยังทำต่อไป
เพราะฉะนั้นหมดโควิด-19 ก็ทำหน้าที่นี้ต่อ แต่เราก็อาจเปลี่ยนบทบาทบ้าง เช่น เรื่องธุรกิจก็อาจจะมาสนับสนุนการฟื้นตัว ให้เปิดกิจการได้ให้มีความต่อเนื่องการทำธุรกิจ ก็มีโครงการพวกนี้ออกมามากขึ้น
"การได้รับรางวัลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) เราได้รับรางวัลที่เรียกว่าอยู่ในระดับ AA ซึ่งสูงสุดแล้ว ต่อเนื่องกัน 4 ปีและมีคะแนนสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้ก็เป็นความภาคภูมิใจ เรื่องการประเมินเป็นเรื่องสำคัญ ผมเชื่อว่าหน่วยงานที่จะมีความโปร่งใส ไม่มีทางเลยถ้าไม่ให้ความสำคัญกับ ITA หรือมีคะแนน ITA ต่ำ
และเราเองก็ได้รางวัลอื่นๆ อีกพอสมควร เราได้รางวัลที่เกี่ยวเนื่องกับการทำธุรกิจที่มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล มีจริยธรรมจากหลายหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่กับการได้รางวัลธนาคารเพื่อสังคมหรือการบริหารจัดการองค์กร"
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ผมคิดว่ารางวัลเหล่านี้ ก็เหมือนความภาคภูมิใจของธนาคาร ถ้าเรื่องของ ITA เรื่องความโปร่งใสก็ตอกย้ำว่า สิ่งที่เราทำมาถูกต้องและมีคนเห็นความสำคัญและเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับ เป็นเหมือนกำลังใจและทำให้คนออมสินมีความภาคภูมิใจมากขึ้น
ภาพจาก TNN ONLINE