100 วัน “ทรัมป์” พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก

นายธนธัช ศรีสวัสดิ์ นักกลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU เปิดเผยว่า การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ ในระยะเวลาเพียง 100 วันแรก ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจและการเงินโลก ผ่านยุทธศาสตร์ 4 เสาหลัก ได้แก่ ความมั่นคง (NATO) องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF-World Bank) การค้า (Tariff) และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ แม้หลายฝ่ายจะมองว่านโยบายไร้ทิศทาง แต่หากพิจารณาในเชิงลึก จะพบลักษณะของ “Controlled Chaos” หรือ “ความโกลาหลที่ควบคุมได้” ซึ่งน่าจะเป็นไปตามแผนที่ทรัมป์และทีมยุทธศาสตร์วางไว้ เพื่อนำไปสู่แผนการใหญ่ที่วอชิงตันต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกใหม่ ปูทางสู่ความได้เปรียบของสหรัฐฯ ในระยะยาว
TISCO ESU ประเมินว่า แม้นโยบายดังกล่าวจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนและตั้งอยู่บนความพยายามพลิกโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจโลกอย่างฉับพลันและรุนแรง แต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการตอบโต้ของประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจ เช่น จีน และแรงสั่นสะเทือนจากตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะแรงเทขายในตลาดพันธบัตรและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่หนักหนา และทำให้สหรัฐฯ ต้องถอยกลับมาตั้งหลักก่อน
นายธนธัช กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเร่งพลิกโฉมเศรษฐกิจ คือ ปัญหา “หนี้สาธารณะ” ที่พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับอันตรายแตะ 36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 120 ของ GDP และมีแนวโน้มทะลุร้อยละ 200 ภายในปี 2593 ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ส่งผลให้ต้องพึ่งพาเงินทุนต่างชาติต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการให้กู้ยืมผ่านตลาดพันธบัตรและในรูปแบบเงินทุนผ่านตลาดหุ้น
ส่งผลให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในบริษัทอเมริกันพุ่งขึ้นจากไม่ถึงร้อยละ 8 ใน 20 กว่าปีก่อน เป็นกว่าร้อยละ 18 หรือกล่าวได้ว่าราว 1 ใน 5 ของความเป็นเจ้าของกิจการในประเทศ ได้ตกไปอยู่กับต่างชาติ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งครั้งหนึ่งนักลงทุนในตำนานอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ถึงกับเคยเปรียบเปรยไว้ว่าไม่ต่างกับการขายชาติ (Selling the nation) เลยทีเดียว