รีเซต

มีเงินเท่าไหร่ถึงจะรอด ? IMF ชี้หนี้พุ่งสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลก

มีเงินเท่าไหร่ถึงจะรอด ? IMF ชี้หนี้พุ่งสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลก
TNN ช่อง16
1 พฤษภาคม 2568 ( 08:00 )
8

มีเงินเก็บเท่าไหร่กันบ้าง สำรองฉุกเฉินอยู่ได้กันสักกี่เดือน

รีบเก็บตอนนี้ยังทัน เพราะมีคำเตือนออกมาแล้วว่า "หนี้กำลังจะท่วมโลก"

IMF บอกว่าเป็นวิกฤตหนี้สาธารณะที่สูงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 

ส่วนคนไทยเราเองก็ต้องระวังความเสี่ยงปากท้องทุกด้าน

มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนเลยว่า ให้เราคนไทยทุกคนต้องมีเก็บเงินสดไว้เผื่อฉุกเฉินกันด้วย 

ยิ่งฟรีแลนซ์ต้องมีเงินอย่างน้อย 12 เดือน 


ข้อมูลคำเตือนจากทางสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เตือนคนไทยต้องเร่งสำรองเงินฉุกเฉิน 

เพื่อรับมือความผันผวนเศรษฐกิจโลก จากผลกระทบสงครามการค้า 

และแนะนำให้กระจายความเสี่ยงลงทุนในหลายสินทรัพย์  โดยเพิ่มทั้งเงินสด และสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ


นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯขอให้คำแนะนำประชาชนคนไทย 

ให้วางแผนการเงินรับมือหลังจากต้องเผชิญเหตุแผ่นดินไหว และผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

จากสงครามการค้าที่สหรัฐในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลก

รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย 

และซ้ำเติมการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวอยู่แล้ว


ทั้งนี้การวางแผนการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวขนาดนั้น 

ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตโควิด 19 ช่วงเกือบ 5-6 ปีที่ผ่านมา 

หลายคนก็มีบทเรียนมาบ้างแล้ว  ทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของการสำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน 

โดยทางสมาคมแนะนำว่าตามหลักการแล้ว 

หากคุณเป็น "มนุษย์เงินเดือน" ควรมีการสำรองเงินเผื่อกรณีฉุกเฉินเป็นจำนวนเงิน 6 เดือนของเงินเดือน

แต่หากเป็น กลุ่มรายได้อิสระ หรือฟรีแลนซ์ ก็ต้องสำรองเงินจำนวน 12 เดือน ของค่าใช้จ่ายส่วนตัว 


คุณวิโรจน์ ยังบอกอีกว่า ล่าสุดกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันวินาศภัยกับที่อยู่อาศัยมากขึ้น

 ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม กรณีที่ผ่อนหมดแล้วและไม่ได้ทำประกันภัยไว้ 

แต่กรณีที่มีการผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน ให้กลับไปตรวจสอบว่าได้มีการทำประกันภัยไว้หรือไม่ 

และได้ครอบคลุมการคุ้มครองเหตุจากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวด้วยหรือเปล่า 

นอกจากนี้ หลายคนเริ่มรู้สึกหรือเห็นความจำเป็นในการทำประกันชีวิตมากขึ้น 

โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว คนที่ต้องรายได้หลักเข้าบ้าน

นอกจากนี้ปัจจัยด้านมหภาค นโยบายภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ ที่สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก 

รวมถึงประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยได้เกิดความผันผวนต่อภาวะการลงทุนทั้งตลาดหุ้น 

และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งหากมีการจัดพอร์ตการลงทุน

ในแบบกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ (Asset Allocation) จะช่วยให้ลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้

          

โดยการจัดพอร์ตการลงทุนในภาวะแบบนี้ แนะนำให้ลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลง 

ด้วยการเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ รวมถึงเงินสดให้มากขึ้น 

เพราะหากราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลงแรง หลังนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ 

เริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกลางปีนี้ 

ย่อมเป็นโอกาสของการกลับไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้มากขึ้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ 

ภายใต้แนวทางการจัดพอร์ตโดยกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์

ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมของตัวเอง


ทิ้งท้ายสมาคมฯ มีความเห็นว่า ในยุคแห่งความไม่แน่นอนขณะนี้ 

การวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่ช่วยมองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต 

และพยายามป้องกันหรือลดความเสี่ยงเหล่านั้นในน้อยที่สุด 

เพื่อไม่ให้กระทบกับทรัพย์สินหรือรายได้ที่พยายามหามา 

คือ อุดรูรั่วให้หมดก่อนเติมน้ำให้เต็มนั้นเอง


ที่สำคัญ คือ ตอนนี้มีคำเตือนออกมาทั่้วโลก

จากแทบทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน

เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลกกำลังก่อตัวขึ้น จากนโยบายของทรัมป์ 2.0 

โดยเฉพาะหนี้สาธารณะของโลกที่จะพุ่งขึ้นอย่างแรง จากคำเตือนของไอเอ็มเอฟ


โลกกำลังอยู่ในความเสี่ยง นับจากสงครามโลก มาสู่สงครามการค้า

ข้อมูลจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ระบุว่า

ภายในอีก 2 ข้างนี้ หรือภายในปี 2027 หนี้ทั่วโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นไปแตะเกิน 117% 

ในกรณีที่สถานการณ์นั้นเลวร้ายอย่างรุนแรง รายได้และผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลงมากกว่าการคาดการณ์ไว้

จากภาษีนําเข้าที่เพิ่มขึ้นและแนวโน้มการเติบโตที่อ่อนแอลง 

และ IMF ระบุว่านี่คือ ตัวเลขสัดส่วนหนี้ที่สูงที่สุดของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง


"ภาษีทรัมป์" คือ ตัวเปลี่ยนเกม

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกคำเตือนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า

ภาษีนําเข้าใหม่ของสหรัฐฯ และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

จะผลักดันให้หนี้สาธารณะสูงกว่าระดับในช่วงการระบาดใหญ่ โควิด 19  

โดยจะเข้าใกล้ 100% ของจีดีพีในประเทศทั่วโลกภายในสิ้นทศวรรษนี้

รายงานล่าสุดของ IMF คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2.8 % เป็น 95.1% 

ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั่วโลกในปี 2025 และจะแตะระดับ 99.6% ภายในปี 2030


ย้อนกลับไปในปี 2020 หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่งสูงสุดที่ 98.9% ของจีดีพี

เนื่องจากการกู้ยืมจํานวนมากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และผลผลิตที่หดตัว 

หนี้ลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ภายในสองปี แต่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมา

IMF ระบุว่าการประกาศขึ้นภาษีครั้งใหญ่โดยสหรัฐฯ มาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ 

และระดับความไม่แน่นอนของนโยบายที่สูงเป็นปัจจัยที่ทําให้สถานการณ์แย่ลง

รายงานยังระบุว่ารัฐบาลต่างๆ เผชิญกับการแลกเปลี่ยนที่ท้าทายมากขึ้น 

โดยงบประมาณถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศที่สูงขึ้น 

ความต้องการการสนับสนุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้น 

และต้นทุนการชําระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจเพิ่มขึ้นพร้อมกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ 

รายงานคาดการณ์ว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะเฉลี่ยที่ 5.1% 

ของจีดีพีในปีนี้ (2025 ) เพิ่มขึ้นจาก 5.0% ในปี 2024, 3.7% ในปี 2022 และ 9.5% ในปี 2020


IMF ย้ําคําแนะนําให้ประเทศต่างๆ ให้ความสําคัญกับการลดหนี้สาธารณะ

เพื่อช่วยสร้างกันชนทางการคลังต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอนาคต 

ซึ่งจะต้องมีความสมดุลทางนโยบายที่ละเอียดอ่อน 

แนะนําว่าประเทศที่มีพื้นที่งบประมาณจํากัดควรดําเนินแผนการรวมตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและน่าเชื่อถือ 

และปล่อยให้กลไกรักษาเสถียรภาพอัตโนมัติ เช่น สวัสดิการการว่างงาน 

ทํางานอย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ยังแนะนําว่าความต้องการใช้จ่ายใหม่ใดๆ 

ควรได้รับการชดเชยด้วยการตัดการใช้จ่ายในที่อื่นหรือรายได้ใหม่


 IMF ยังได้หั่นประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 2.8% 

จากเดิม 3.3% สำหรับปีหน้า ก็ปรับเหลือ 3% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 3.3%

สาเหตุจากภาษีทรัมป์กระทบเศรษฐกิจแทบทุกประเทศ 

อ้างอิงจากรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) 

ฉบับล่าสุดของ IMF ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2568 


และล่าสุด IMF ก็ได้หั่นหรือปรับลดการเติบโตของจีดีพีไทยในปีนี้ลงไปด้วยเช่นกัน

จากเดิม 2.9  % เหลือเพียงแค่ 1.8% 

ทำให้ส่งผลให้ไทยเราเสี่ยงเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตต่ำที่สุด

รั้งท้ายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียในปีนี้ ฃ

ดังนั้นกลับมาที่คำถามแรกอีกที ตอนนี้คุณมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินหรือยัง มีพอสำหรับกี่เดือน ? 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง