รีเซต

ชวนอุดหนุน 10 งานคราฟต์แรร์ไอเทม ฝีมือน้องๆ ในแคมเปญให้โอกาสเป็นของขวัญ Season 5

ชวนอุดหนุน 10 งานคราฟต์แรร์ไอเทม ฝีมือน้องๆ ในแคมเปญให้โอกาสเป็นของขวัญ Season 5
TNN ช่อง16
19 กรกฎาคม 2567 ( 14:46 )
14
ชวนอุดหนุน 10 งานคราฟต์แรร์ไอเทม ฝีมือน้องๆ ในแคมเปญให้โอกาสเป็นของขวัญ Season 5

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือ Sea (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำรวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ชวนช็อปรับเทศกาล Mid Year ในแคมเปญ ‘ให้โอกาสเป็นของขวัญ’ พบกับ 10 งานคราฟต์ฝีมือน้อง ๆ โรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนนานาชาติ ในโครงการ Equity Partnerships School Network: เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ ปีที่  5 ซึ่งเป็นการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ผ่านการร่วมเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ สานต่อแนวคิดการตลาดเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของน้อง ๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ห่างไกล กับพี่ ๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนนานาชาติ


โดยโครงการในปีนี้มีโรงเรียนขยายโอกาสในเครือข่าย กสศ. เข้าร่วม 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนขุนยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน, โรงเรียนบ้านห้วยลึก จ.เชียงราย, โรงเรียนเพียงหลวง 1 (บ้านท่าตอน) จ.เชียงใหม่, โรงเรียนบ้านทุ่งโฮ้ง (อภิวังวิทยาลัย) จ.แพร่, โรงเรียนบ้านยะพอ จ.ตาก, โรงเรียนดงสวรรค์วิทยา จ.หนองบัวลำภู, โรงเรียนบ้านนาเลา จ.มหาสารคาม, โรงเรียนบ้านม่วงนาดี จ.อุบลราชธานี, โรงเรียนบ้านท่านหญิงวิภา จ.สุราษฎร์ธานี และ โรงเรียนวัดท่าโสม(คุณสารราษฎร์บำรุง) จ.ตราด พร้อมด้วยเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (Shrewbury International School Bangkok Riverside), โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์กรุงเทพ (St Andrews  International School), โรงเรียนนานาชาติรักบี้ (Rugby International School), โรงเรียนนานาชาติแอสคอท (Ascot International School) และ โรงเรียนสาธิตประสานมิตร (Satit Prasarnmit International Programme) รวมโรงเรียนร่วมโครงการในปีที่ 5 ทั้งสิ้น 15 โรงเรียน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของหลายฝ่าย ทั้งการสนับสนุนงบประมาณและความร่วมมือจำนวนมากจากทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งที่สำคัญคือ กิจกรรมนี้ไม่ใช่สนามซ้อม แต่คือ ‘สนามจริง’ ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เริ่มจาก Prototype หรือ ตัวแบบดั้งเดิมในเวอร์ชั่น 0 ก่อนที่น้อง ๆ จะช่วยพัฒนาร่วมกันไปจนถึงเวอร์ชั่น ‘ขายจริง’ ซึ่งในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะมีทั้งการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ในทีม ไปจนถึง ‘Story’ หรือ ‘เรื่องราว’ ที่จะแปรเปลี่ยนไปตามการเดินทาง จนเกิดเป็นทั้งความทรงจำและปลายทางของหน้าตาผลิตภัณฑ์ที่โรงเรียนซึ่งเป็นคู่พาร์ตเนอร์จะทำให้เกิดขึ้นในตอนท้าย

และในวันนี้เมื่อการเดินทางของน้อง ๆ มาถึงจุดที่ Prototype ได้รับการพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จพร้อมจำหน่ายแล้ว จึงอยากชวนทุกท่าน มาชม มาดู และมาเลือกซื้อสินค้า ที่ไม่อาจประเมินคุณค่าจากเพียงวัตถุดิบที่ใช้ หรือความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ หากผลิตภัณฑ์ของน้อง ๆ ยังสะท้อนถึงมิตรภาพ หรือ ‘Partnerships’ ที่ประกอบสร้างผ่านความร่วมมือ แรงใจ รวมถึงความผูกพันกลมเกลียวที่ก่อตัวขึ้นระหว่างสองโรงเรียน ซึ่งความสุขเหล่านั้นเองที่จะส่งต่อไปยังผู้คนครอบครอง

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า Equity Partnership’s School Network ปีที่ 5 มุ่งเน้นที่การสร้างความยั่งยืนระยะยาว โดยจะบูรณาการกับโครงการอื่น ๆ ของ กสศ. เช่น โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน รวมถึงยังขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังโรงเรียนนานาชาติในต่างประเทศ พร้อมถอดบทเรียนนวัตกรรมเชิงกระบวนการ สู่ต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise business model) ที่มีชุดความรู้คู่มือการจัดทำนวัตกรรมเชิงกระบวนการ (guidebook) และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อส่งต่อผ่านเครือข่ายในพื้นที่ที่มีความพร้อมขับเคลื่อน เพื่อให้นวัตกรรมสามารถดำเนินการต่อไปได้แม้โครงการสิ้นสุดลง

“เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง หากด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถต่อยอดและพัฒนาพรสวรรค์ในตัวเองได้ กสศ. จึงตั้งใจสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เสริมทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคที่มีศักยภาพ และยังสร้างรายได้กลับคืนสู่โรงเรียนเครือข่าย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น นอกจากนี้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจาก Equity Partnership’s School Network ยังเป็น ‘ตัวแบบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่อาศัยพลังจากหลากหลายภาคส่วนมาช่วยกันระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งเป็นคุณค่าตามความหมายของ ‘ALL FOR EDUCATION’ หรือปวงชนเพื่อการศึกษา พร้อมกันนี้ยังเป็นการเสริมทักษะจำเป็น 3 ด้านที่เยาวชนต้องมีในโลกยุคปัจจุบัน คือ 1. ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง 2. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และ 3. ทักษะการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ และด้วยภายใต้แนวคิดที่มุ่งสร้างสรรค์พื้นที่แห่งความร่วมมือและมิตรภาพ กสศ. จึงอยากเชิญชวนสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ในการพาเด็ก ๆ ไปสู่เส้นทางการพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้ทักษะอาชีพ เพื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปใช้เปลี่ยนแปลงเส้นทางอนาคต”



คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) กล่าวถึงกิจกรรมสำคัญบนเส้นทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งทาง Sea (ประเทศไทย) และ Shopee ซึ่งเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในเครือ จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ในการสร้างทักษะผู้ประกอบการให้กับน้อง ๆ ในโครงการ ซึ่งเนื้อหาการอบรมเน้นเรื่อง Storytelling หรือการเล่าเรื่องของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ ผ่านบรรจุภัณฑ์และสื่อสังคมออนไลน์ การเสริมทักษะการตลาดเช่นคิดต้นทุน (Product Costing) เพื่อประเมินราคาผลิตภัณฑ์ จนถึงการชวนแบรนด์ Pick Me Please หนึ่งในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Shopee ซึ่งมีเครื่องการันตีความสำเร็จเป็น รางวัล Thailand e-Commerce Genius 2023 จากโครงการ “สุขใจซื้อของไทย” โดยโครงการนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและ Shopee ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการมาตั้งแต่ปี 2562 ที่ล้วนมีส่วนให้เด็ก ๆ รับรู้และเข้าใจเรื่องการประกอบธุรกิจ สามารถนำความคิดเกี่ยวกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปใช้ได้ในเวลาสั้น ๆ ทั้งยังมีเทคนิควิธีในการคำนวณต้นทุนและผลกำไรที่เหมาะสม และการสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ซื้อ ตลอดจนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและเสริมกำลังใจให้น้อง ๆ เดินหน้าสู่การประกอบธุรกิจ และนำความรู้จากการอบรมไปใช้เปิดหน้าร้านบน Shopee ได้ทันที

สำหรับผลิตภัณฑ์จากความร่วมมือของน้อง ๆ โรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนนานาชาติ 15 โรงเรียน 10 แบรนด์ จาก Equity Partnership’s School Network Season 5 ประกอบด้วย แบรนด์ ‘แม่ฮ่องครัว’ ที่นำเสน่ห์ผ้าทอกะเหรี่ยงมาทำเป็นผ้ารองจาน ‘ตะพะเลอเคอ’ แบรนด์ ‘Mongby’ กับกระเป๋าผ้าลายปักที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวม้ง แบรนด์ ‘เพียงหลวง’ กับกระเป๋าจักสานที่นำวัสดุท้องถิ่นอย่างไม้ไผ่มาผสมผสานกับหนัง PU แบรนด์ ‘Bhan Rak’ กับผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าและรองเท้าใส่ในบ้าน ที่นำผ้ามัดย้อมมาตัดเย็บด้วยมือ แบรนด์ ‘Astha’ กับเสื้อยืดและหมวกบักเก็ตสืบสานภูมิปัญญาที่ตกแต่งด้วยลายผ้าทอกะเหรี่ยง แบรนด์ ‘Dong Fabric’ กับเนคไทผ้าทอมือประดับลวดลายอันเป็นอัตลักษณ์ชุมชนดงสวรรค์ แบรนด์ ‘สร้างเอง’ กับกระถางปูนเปลือยพิมพ์ลายใบไม้ 3 รูปทรง แบรนด์ ‘งอกงาม’ ที่ใช้วัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติในชุมชนอย่างข้าวกล้องและผักมาสร้างสรรค์ ‘โจ๊กข้าวกล้องสำเร็จรูป’ แบรนด์ ‘Honney Home’ ที่พัฒนา ‘สบู่น้ำผึ้ง’ จากน้ำผึ้งบริสุทธิ์ของผึ้งโพรงซึ่งเลี้ยงแบบธรรมชาติในชุมชน และ แบรนด์ ‘WOVENT’ กับกระเป๋าสานพลาสติก ‘Shopping Bag’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสุนัขพันธุ์หลังอาน ‘Ridgeback Dog’ ซึ่งมีชื่อเสียงของจังหวัดตราด คลิกดูผลิตภัณฑ์ >> https://www.eef.or.th/equity-partnerships-school-network.../ 

   และหลังจากการเดินทางของความร่วมมือ มิตรภาพ แรงบันดาลใจ และการสร้างสรรค์ ถึงตอนนี้ งานคราฟต์สุดพิเศษทั้งหมดพร้อมจำหน่ายแล้วบนแพลตฟอร์ม Shopee ตั้งแต่วันนี้

‘ใคร ๆ ก็เรียนรู้เพื่อเปิดร้านค้าออนไลน์ได้’


ผู้สนใจอัปสกิลการขายกับ Shopee University ด้วยคอร์สเรียนฟรี ผ่านศูนย์การเรียนรู้ผู้ขาย Shopee (attachedhttps://seller.shopee.co.th/edu/home) นอกจากนี้ยังสามารถติดตามอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ กับทาง Shopee รวมถึงเพิ่มความรู้การขายออนไลน์และการเพิ่มผลลัพธ์ทางการขายได้ทุก ๆ ช่องทางของ Shopee University คลิกเลย >>https://linktr.ee/ShopeeUniversityTH

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง