สธ.เจรจาเอกชน หายาสู้เดลต้า รับโควิดระบาดรอบใหม่ เตือนสติ ปชช.ยังต้องป้องกันตัวเอง
เมื่อวันที่ 6 กันยายน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในต่างประเทศ เช่น สายพันธุ์มิว ที่อาจหลบหนีวัคซีน หรือหนีภูมิคุ้มกันได้ดีนั้น ในเรื่องของยา ขณะนี้ในต่างประเทศมีการวิจัยยาหลายตัวในระยะที่ 2 เข้าระยะที่ 3 และอาจจะได้ผลสิ้นเดือนกันยายน ตุลาคม หรือพฤศจิกายน บ้าง ซึ่ง สธ.ไม่นิ่งนอนใจ ได้หารือกับบริษัทผู้แทนยาของต่างประเทศทั้งหมด เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัท เอ็มเอสดี (MSD) , ยาโปรตีเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitor) ของ บริษัท ไฟเซอร์ โดยได้พูดคุยเจรจาว่า หากทดลองในระยะที่ 3 ได้ผลดี มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง เราจะรีบนำมาใช้ในการระบาดรอบถัดไป
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า รวมถึงการศึกษาการใช้ยาในประเทศไทยเอง ทั้งคณะแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของกรมแพทย์ ก็ได้แบ่งหน้าที่กันประเมิน เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร หรืออื่นๆ ที่ใช้กันอยู่ โดยผลศึกษาวิจัยจะทยอยออกมาในเดือน 1-2 เดือนนี้
“อย่างไรก็ตาม ต้องยอมว่า ช่วงปีที่ผ่านมาผู้ป่วยอื่นอาจเสียโอกาสไปบ้าง ขณะกำลังเตรียมการแพทย์วิถีใหม่ที่เราทำมาตลอด แต่จะดำเนินการให้มากขึ้น และจะเปลี่ยนกะของบุคลากรส่วนอื่นๆ ที่เราดึงมาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เราก็จะหมุนเวียนให้กลับไปทำหน้าที่ แต่จะใช้เทคนิคดิจิทัลอื่นเข้ามาดูแลผู้ป่วยอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ ขอบคุณบุคลากรแพทย์ที่เหนื่อยมาตลอด 4 เดือน และเราได้รับคำยืนยันว่า จะทำให้ดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต ต้องฝากว่าทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ ต้องหาจุดบาลานซ์ที่เหมาะสม ช่วงนี้คลายล็อก ประชาชนเองคงตามข่าวว่าเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา มีคนที่ไปใช้บริการร้านอาหาร บางที่ไปเข้าคิว 2-3 ชั่วโมง แต่อยากฝากว่า ยังต้องป้องกันตัวเองอยู่ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หากจำเป็นต้องถอดขณะรับประทานอาหาร ก็ขอให้คุยกันน้อยๆ เพราะเป็นความเสี่ยงที่แพร่กระจายในละอองลอย และเว้นระยะห่าง ล้างมือ โดยยืนยันว่าบุคลากรสาธารณสุขเตรียมการขั้นสูงสุดไว้ว่า ปลายเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ เราก็เตรียมเตียงและประเมินมาตรการแยกกักที่บ้าน ช่วยกัน ร่วมแรงร่วมใจ พาไทยฝ่าภัยโควิด-19 และเราจะชนะได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในการจัดหายารักษาโรคโควิด-19 นั้น จากการศึกษาวิจัยการใช้ไอเวอร์เม็กติน (ยาถ่ายพยาธิในสัตว์) ในต่างประเทศ พบว่า ไม่ได้ผล และไม่ได้มีคำแนะนำให้ใช้ ส่วนการศึกษาใน รพ.ศิริราช ก็ยังไม่สิ้นสุด แต่ในส่วนยา โมลนูพิราเวียร์ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองระยะ 3 และขอขึ้นทะเบียนยาขององค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกา (USA) หากสำเร็จ ก็คาดว่าจะมีการขึ้นทะเบียนในเดือนตุลาคมนี้ และหากสำเร็จก็จะมีการขึ้นทะเบียนในไทยได้ในราวเดือนพฤศจิกายนนี้
“โดยยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาตระกูลเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสในชั้นเซลล์ เหมาะกับการใช้รักษาในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง หากการทดลองยานี้สำเร็จ ก็จะนำมาทดแทนยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับขนาดการใช้อยู่ที่ 40 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน จากเดิมยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ 50 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน ส่วนยาโปรตีเอสฯ ซึ่งเป็นยาของบริษัท ไฟเซอร์ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว