รีเซต

‘ลิซ ทรัสส์’ นั่งนายกฯ อังกฤษ อาจทำสัมพันธ์กับจีนย่ำแย่ลงอีก

‘ลิซ ทรัสส์’ นั่งนายกฯ อังกฤษ อาจทำสัมพันธ์กับจีนย่ำแย่ลงอีก
TNN ช่อง16
7 กันยายน 2565 ( 13:24 )
122
‘ลิซ ทรัสส์’ นั่งนายกฯ อังกฤษ อาจทำสัมพันธ์กับจีนย่ำแย่ลงอีก

หลังจากที่ ‘ลิซ ทรัสส์’ ขึ้นแท่นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร ก็อาจทำให้ความสัมพันธ์กับจีนแย่ลงอีก เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่จีนถกเถียงกันอย่างหนัก เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับจีน ย่ำแย่ลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 


---สหราชอาณาจักรกังวล หากให้จีนลงทุน---


รัฐบาลสหราชอาณาจักรกังวลว่า หากเปิดประตูเศรษฐกิจให้จีนเข้ามาลงทุน จะทำให้เกิดความเสี่ยงในประเทศ โดยจีนอาจนำทัพและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เข้ามามีบทบาทในการค้าเสรีหลังเบร็กซิต


ลิซ ทรัสส์’ เองก็มองจีนว่า เป็นภัยคุกคามระหว่างประเทศ ที่มีบทบาทเรื่องเศรษฐกิจและการทูต และเธอเองก็อาจสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อต่อต้านด้วย โดยเธอระบุว่า “ทุกประเทศต้องทำตามกฎ รวมถึงจีนด้วย” และ “จีนสร้างความแข็งแกร่งทางทหารอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะคืบคลานเข้ามาสู่ผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ของยุโรป” 


ทรัสส์’ เตือนจีนว่า หากจีนไม่ทำตามกฎ เธอจะตอบโต้อย่างมหาอำนาจ ซึ่งจีนก็ควรเรียนรู้จากบทเรียนที่ยุโรปตอบโต้มาตรการทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนด้วย


---จีนหวังความสัมพันธ์สองชาติดีขึ้น---


ขณะที่ ‘เหมา หนิง’ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า เธอหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหราชอาณาจักรจะเป็นไปในทางที่ถูกต้อง จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกับสหราชอาณาจักร หวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่จะดำเนินไปในทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้พัฒนาความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น ส่วนการแสดงความยินดีกับทรัสส์จะเกิดขึ้นทางการปฏิบัติทางการทูตต่อไป


ส่วนประธานาธิบดี ‘ไช่ อิง-เหวิน’ ของไต้หวัน ก็ได้แสดงความยินดีกับทรัสส์ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 




---การเปลี่ยนจากมิตรเป็นคู่แข่งเกิดขึ้นได้อย่างไร---


ในช่วงสมัยของนายกรัฐมนตรี ‘เดวิด คาเมรอน’ เป็นยุคทองของสหราชอาณาจักรกับจีน ในปี 2015 ‘คาเมรอน’ เรียกจีนว่าเป็นเพื่อนสนิท


แต่เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไป 3 คน ก็ทำให้ความสัมพันธ์สั่นคลอน มีการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมทางการค้าของจีน และสถานการณ์ในฮ่องกงและเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ก็ทำให้สหราชอาณาจักรเปลี่ยนจากมิตรแท้ที่พร้อมสนับสนุนจีนเป็นผู้วิจารณ์ที่ดุร้ายที่สุด 


เมื่อปี 2021 ทรัสส์ได้โน้มน้าวให้รัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่ม G7 เขียนคำแถลงการณ์ที่รวมเรื่องการประณามนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนด้วย 


นอกจากนี้ ในช่วงที่ทรัสส์เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ สหราชอาณาจักรได้ร่วมลงนามในข้อตกลง ‘ออคัส’ ซึ่งเป็นข้อตกลงไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่าง ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซึ่งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรก็ให้คำมั่นกับออสเตรเลียว่า จะช่วยออสเตรเลียผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ด้วย 


ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า หาก ‘ลิซ ทรัสส์’ เริ่มดำเนินการเรื่องนโยบายต่างประเทศที่มีต่อจีนแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไป 

—————

แปล-เรียบเรียงพิชญาภา สูตะบุตร

ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง