รีเซต

เปิดสรรพคุณ "กระท่อม" คุณประโยชน์ล้น หลังพ้นบัญชียาเสพติด

เปิดสรรพคุณ "กระท่อม" คุณประโยชน์ล้น หลังพ้นบัญชียาเสพติด
TNN ช่อง16
24 สิงหาคม 2564 ( 13:09 )
421
เปิดสรรพคุณ "กระท่อม" คุณประโยชน์ล้น หลังพ้นบัญชียาเสพติด

ภายหลังจากที่ กระทรวงยุติธรรม ปลดล็อกให้ "พืชกระท่อม" ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป หลังเริ่มมีผลบังคับใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 วันนี้ (24 ส.ค.64) เป็นวันแรก โดยให้ถือว่าประชาชนสามารถปลูกพืชกระท่อมได้อย่างเสรี หรือจะบริโภคก็สามารถทำได้

ทั้งนี้ สาระสำคัญการบังคับใช้กฎหมายคือให้ผู้ที่ปลูกกระท่อมไว้ครอบครองสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบดเคี้ยวได้ และปลูกต้นกระท่อมเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ยังขยายไปถึงการสามารถส่งขายเป็นพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม โดยไม่ต้องขออนุญาต

และหลังจากนี้จะมีการออกกฎหมายรองตามมา ซึ่งจะมีบทบัญญัติเพิ่มเติม อาทิ การกำหนดห้ามขายให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นเยาวชน รวมถึงสตรีมีครรภ์ และเตรียมกำหนดสถานที่ห้ามขาย เช่น ในโรงเรียน วัด ส่วนประเภทธุรกิจการส่งออกหรือนำเข้านั้นจะต้องขออนุญาต


มาดูกันว่า "กระท่อม" มีคุณประโยชน์อะไรบ้าง?

กระท่อม (Kratom) หรือ Mitragyna speciosa (Korth.) HaviL. เป็นพรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ Rubiaceae ถูกนำมาใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านมานานหลายร้อยปีแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พืชกระท่อม เป็นพืชที่พบมากทางใต้ของประเทศไทย ไปจนถึงเขตชายแดน นิยมเคี้ยวใบสด หรือ ต้มเป็นชา เพื่อกระตุ้นให้ทำงานได้โดยไม่เมื่อยล้า ซึ่งในประเทศไทยมีการนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง

และบางพื้นที่กล่าวกันต่อมาว่าสามารถบรรเทาโรคเบาหวานได้ ชาวนานิยมบริโภคโดยการเคี้ยวใบสด หรือเอาใบมาย่างให้เกรียมและตำผสมกับน้ำพริกรับประทานเป็นอาหาร เพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย

ขณะที่ ชาวมลายูใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล และใช้ทั้งใบเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต ตลอดจนใช้กระท่อมเพื่อทดแทนฝิ่นในท้องที่ซึ่งหาฝิ่นไม่ได้ และบ่อยครั้งมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อควบคุมการติดฝิ่น โดยเฉพาะในประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน


กระท่อมที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น ในประเทศไทย ภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้ เรียกท่อม หรือท่ม ในมลายูเรียกคูทุม (Kutum) หรือ คีทุมเบีย (Ketum Bia) หรือ เบียก (Biak) ลาวเรียกไนทุม (Neithum) อินโดจีน เรียกโคดาม (Kodam) 

แหล่งที่พบกระท่อมในไทยบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

สารสำคัญที่พบในใบกระท่อมนั้น ประกอบด้วยแอลคาลอยด์ทั้งหมดประมาณร้อยละ 0.5 ในจำนวนนี้เป็นมิตราไจนีน (Mitragynine) ร้อยละ 0.25 ที่เหลือเป็น สเปโอไจนีน (Speciogynine) ไพแนนทีน (Paynanthine) สเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine) ตามลำดับ ซึ่งชนิดและปริมาณแอลคาลอยด์ที่พบแตกต่างกัน ตามสถานที่ และเวลาที่เก็บเกี่ยว ซึ่งแบ่งตามสูตรโครงสร้างได้สารประกอบ 4 ประเภท คือ

1. อินโดลแอลคาลอยด์ (Indole Alkaloids)

2. ออกอินโดลแอลคาลอยด์ (Oxindole Alkaloids)

3. ฟลาวานอยด์ (Elavanoids)

4. กลุ่มอื่นๆ เช่น ไฟโตสเตอรอล (Phytosterol), แทนนิน (Tannins)

ประโยชน์กระท่อมต่อสุขภาพ

จากงานวิจัยพบว่าในใบกระท่อมทำปฏิกิริยากับร่างกายมีผลต่อเซลล์ประสาทบางชนิดในร่างกายในการรับรู้ความเจ็บปวดถูกนำมาใช้รักษาอาการเหล่านี้

- ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น อาการปวดที่ไม่พึงประสงค์เป็นผลจากการบาดเจ็บทางร่างกาย เนื้อเยื่อ ปวดหลัง ระบบประสาท กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น อาการปวดที่เกิดจากภาวะเรื้อรัง เช่น โรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม มะเร็ง เบาหวาน โรคข้ออักเสบ เป็นต้น โดยไม่คำนึงถึงที่มาความเจ็บปวดจะส่งผลต่อร่างกายทั้งทางร่างกายและจิตใจ

- ช่วยรักษาอาการไอ

- ช่วยลดการหลั่งกรด

- ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก

- ใบกระท่อมช่วยให้มีสมาธิและระงับประสาท

- แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ปวดเบ่ง แก้บิด

- แก้ปวดฟัน

- ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท

- แก้ปวดเมื่อยร่างกาย

- ช่วยให้ทํางานทนไม่หิวง่าย

- ใช้ใบกระท่อมเพื่อระงับอาการกล้ามเนื้อกระตุก

- เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ

- นำไปใช้บรรเทาอาการปวดแทนมอร์ฟีน โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า และมีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลาย ประการ เช่น กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้

- ใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติด

ผลข้างเคียงจากการเสพกระท่อมมากเกินไป

- ความอยากอาหารลดลง หรือน้ำหนักลด

- ท้องผูก

- ปัสสาวะบ่อย

- ปากแห้ง

- วิตกกังวล และกระวนกระวายใจ

- เหงื่อออก และคัน

- แพ้แดด หรือผิวหนังมีสีเข้มกว่าเม็ดสีปกติ

- อาการคลื่นไส้ และอาเจียน

- นอนไม่หลับ หรือร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา

- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

- รู้สึกกระวนกระวาย สับสน

- เห็นภาพหลอน

ข้อควรระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ใบกระท่อม

- สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร

- ผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดสุรา

- ผู้มีความผิดปกติทางจิต

- ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ

- กินกระท่อมร่วมกับชุมเห็ดช่วยแก้ท้องผูก หากมีอาการมึนเมา วิงเวียน ซึม จากการกินกระท่อมมากเกิน ให้ดื่มน้ำหรือกินของเปรี้ยว แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ขอบคุณข้อมูลจาก

- กระท่อม ยาระงับปวดหรือยาเสพติดเรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ภาควิชาเภสัชเวท และเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

- สำนักงานกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

- amprohealth.com

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง