รีเซต

โควิด-19 : การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเปลี่ยนโฉมหน้าโลกเราไปอย่างไร

โควิด-19 : การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเปลี่ยนโฉมหน้าโลกเราไปอย่างไร
บีบีซี ไทย
2 พฤษภาคม 2563 ( 10:50 )
308
โควิด-19 : การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเปลี่ยนโฉมหน้าโลกเราไปอย่างไร
Getty Images
คาดว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ได้คร่าชีวิตผู้คนราว 40-50 ล้านคนภายในระยะเวลา 2 ปี คือระหว่างปี 1918-1920

หากคุณยังไม่เคยได้ยินเรื่องราวการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนมาก่อน วิกฤตโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้อาจทำให้คุณได้ทราบถึงวิกฤตการณ์ไวรัสล้างโลกที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อน มักถูกเรียกว่า "มารดาแห่งโรคระบาดทั้งปวง" ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ระบุว่า เชื้อไวรัสนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนราว 40-50 ล้านคนภายในระยะเวลา 2 ปี คือระหว่างปี 1918-1920

เหล่านักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ราว 1 ใน 3 ของประชากรโลกในขณะนั้น หรือราว 1.8 พันล้านคน ติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้

ไข้หวัดใหญ่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสิ้นสุดลงในช่วงที่โรคกำลังเริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก

ในขณะที่โลกในยุคปัจจุบันกำลังต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 เราขอชวนมองย้อนประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ทำให้โลกต้องหยุดนิ่ง และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากภัยพิบัติในครั้งนั้น

ปี 1921 กับโลกที่เปลี่ยนไป

Getty Images

ในปี 1918 แวดวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังมีข้อจำกัดอยู่มากในการรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เมื่อเทียบกับในปัจจุบัน

แพทย์ในยุคนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องจุลชีพ ซึ่งเป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่สเปน รวมทั้งยังไม่ทราบว่าโรคนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่คิดว่าเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่เชื้อไวรัส

วิธีการรักษาก็มีอยู่อย่างจำกัด ยกตัวอย่างเช่น ยาปฏิชีวนะ ที่เพิ่งค้นพบในปี 1928

ขณะที่วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพิ่งจะมีการผลิตให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้กันในช่วงทศวรรษที่ 1940

ที่สำคัญ ในยุคนั้นยังไม่มีระบบสาธารณสุขแบบถ้วนหน้า และแม้แต่ในประเทศร่ำรวย การสุขาภิบาล ยังถือเป็นสิ่งหรูหรา

ลอรา สปินนีย์ นักเขียนหนังสือแนววิทยาศาสตร์เรื่อง Pale Rider: The Spanish Flu of 1918 and How it Changed the World เล่าว่า "ในประเทศที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรม แพทย์ส่วนใหญ่มักทำงานในคลินิกของตัวเองหรือได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรด้านการกุศลหรือศาสนา และผู้คนจำนวนมากก็เข้าไม่ถึงการรักษาของพวกเขาเลย"

คนหนุ่มสาวและคนจน

Getty Images
ไข้หวัดใหญ่สเปนส่งผลกระทบต่อผู้คนในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งก่อน ๆ

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกคือการที่ไข้หวัดใหญ่สเปนส่งผลกระทบต่อผู้คนในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งก่อน ๆ เช่น การระบาดเมื่อปี 1889-90 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก

สำหรับครั้งนี้ เหยื่อของไข้หวัดใหญ่สเปนคือคนอายุระหว่าง 20-40 ปี และผู้ชายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่า นี่อาจเป็นเพราะการระบาดที่เชื่อว่าได้เริ่มเกิดขึ้นในค่ายทหารที่ "แนวรบด้านตะวันตก" (Western Front) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากนั้นเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วโลกเมื่อทหารเหล่านี้เดินทางกลับบ้านหลังสงครามสิ้นสุดลง

ไข้หวัดใหญ่สเปนยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้คนในประเทศยากจน

การศึกษาในปี 2020 ที่นำทีมโดย โรเบิร์ต บาร์โร นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเมินว่า ในขณะที่ประชากรราว 0.5% (ราว 550,000 คน) ในสหรัฐฯ ขณะนั้นเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปน แต่โรคร้ายนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนราว 5.2% ของประชากรในอินเดีย หรือเกือบ 17 ล้านคน

โรคระบาดที่เกิดขึ้นยังความสร้างเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ โดยบาร์โรและคณะประเมินว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศต่าง ๆ ลดลง 6% โดยเฉลี่ย

แคทเธอรีน อาร์โนลด์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Pandemic 1918 ระบุว่า "การเสียชีวิตของผู้คนในสงครามโลกครั้งที่ 1 บวกกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจหลังจากนั้น

บรรพบุรุษของ อาร์โนลด์ เองก็เป็นเหยื่อของไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดในสหราชอาณาจักร

"ในหลายประเทศ แทบไม่มีผู้ชายวัยหนุ่มเหลือให้สืบทอดธุรกิจของครอบครัว, ทำเรือกสวนไร่นา, ฝึกวิชาชีพและการค้า แต่งงานและมีลูกมาทดแทนประชากรที่ล้มหายตายจากไปหลายล้านคนในช่วงนั้น" อาร์โนลด์ กล่าว

"การขาดแคลนผู้ชายที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้นำไปสู่ปัญหาที่เรียกว่า "สาวขึ้นคาน" ซึ่งผู้หญิงหลายล้านคนไม่สามารถหาคู่ครองที่เหมาะสมได้"

 

ผู้หญิงในที่ทำงาน

Getty Images
ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน และสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เปิดทางให้ผู้หญิงได้เข้าสู่ระบบงานมากขึ้น

แม้การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มากเท่าเหตุการณ์ "กาฬมรณะ" หรือ Black Death ซึ่งเป็นการระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคสมัยศตวรรษที่ 14 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 75-100 ล้านคน และนำไปสู่ความตกต่ำของการปกครองระบบศักดินา แต่ไข้หวัดใหญ่สเปนก็สร้างความสั่นสะเทือนต่อความเสมอภาคระหว่างชายหญิงในหลายประเทศ

คริสทีน แบล็กเบิร์น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม พบว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ ที่เกิดจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน และสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เปิดทางให้ผู้หญิงได้เข้าสู่ระบบงานมากขึ้น

"ภายในปี 1920 มีผู้หญิงอยู่ราว 21% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ" แบล็กเบิร์น กล่าว

ในปีเดียวกัน สภาคองเกรสให้สัตยาบันบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 19 ให้พลเมืองสตรีชาวอเมริกันมีสิทธิเลือกตั้ง (Women's Suffrage) ในระดับชาติได้เป็นครั้งแรก (19th Amendment) ซึ่งให้สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่สตรีชาวอเมริกันทุกคน

แบล็กเบิร์น กล่าวเสริมว่า "มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดเมื่อปี 1918 ได้ส่งผลต่อสิทธิสตรีในหลายประเทศ"

นอกจากนี้ ลูกจ้างยังได้ประโยชน์จากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า ค่าแรงในภาคการผลิตพุ่งขึ้นจาก ชั่วโมงละ 21 เซนต์ ในปี 1915 ไปอยู่ที่ชั่วโมงละ 56 เซนต์ ในปี 1920

ความทุพพลภาพที่ทิ้งไว้ให้ทารกรุ่นหลัง

Getty Images

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาทารกที่เกิดในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สเปนระบาด และพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเกิดมาพร้อมความผิดปกติต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ มากกว่าเด็กที่เกิดก่อนและหลังการระบาด

ผลการวิเคราะห์ในสหราชอาณาจักรและบราซิล พบว่า ทารกที่เกิดในปี 1918-1919 ยังมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะได้รับการจ้างงานอย่างเป็นทางการ หรือได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

บางทฤษฎีตั้งข้อสันนิษฐานว่า ความเครียดของมารดาที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาดอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์

นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการรับทหารเข้าในกองทัพสหรัฐฯ ของชายที่เกิดระหว่างปี 1915 - 1922 ยังพบว่า ผู้ที่เกิดในปี 1919 มีส่วนสูงน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ 1 มิลลิเมตร

กระแสต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม และความร่วมมือระหว่างประเทศ

Getty Images

ปี 1918 อินเดียได้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมานานกว่า 1 ศตวรรษ

ไข้หวัดใหญ่สเปนได้ระบาดไปถึงอินเดียในเดือน พ.ค.ปีนั้น และมันส่งผลกระทบต่อคนอินเดียหนักกว่าคนอังกฤษที่อาศัยอยู่ในอินเดีย

มีสถิติที่บ่งชี้ว่า อัตราการเสียชีวิตของชาวฮินดูวรรณะต่ำอยู่ที่ 61.6 คนต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตในหมู่ชาวยุโรปอยู่ที่ไม่ถึง 9 คน ต่อประชากร 1,000 คน

ชาวอินเดียที่มีแนวคิดชาตินิยมจึงฉวยโอกาสในช่วงที่สังคมกำลังมองว่าผู้ปกครองชาวอังกฤษบริหารจัดการกับวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นอย่างผิดพลาด โดยในปี 1919 หนังสือพิมพ์ Young India ของ มหาตมะ คานธี ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการ วิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองอังกฤษอย่างดุเดือด

"ไม่มีประเทศอารยะใดที่รัฐบาลจะปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายโดยไม่ทำอะไรได้มากมายเท่ากับรัฐบาลอินเดียในช่วงที่เกิดโรคระบาดอันเลวร้ายและสร้างความหายนะเช่นนี้

Getty Images
ไข้หวัดใหญ่สเปนได้นำไปสู่การก่อตั้งองค์การด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคระบาดที่เกิดขึ้นยังเผยให้เห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ แม้สงครามโลกครั้งที่ 1 จะทำให้โลกเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองก็ตาม

ในปี 1923 สันนิบาตชาติ (League of Nations) องค์การระหว่างประเทศที่ในเวลาต่อมาได้ถูกแทนที่ด้วยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ก่อตั้งองค์การอนามัย (Health Organisation) ที่ต่อมากลายเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO)

องค์การนี้ได้สร้างระบบใหม่ในการควบคุมโรคระบาดระหว่างประเทศขึ้น ซึ่งดำเนินงานโดยกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ มากกว่านักการทูต

ความก้าวหน้าด้านสาธารณสุข

Getty Images
หลายประเทศได้ก่อตั้งหรือยกระดับกระทรวงสาธารณสุขในช่วงทศวรรษที่ 1920

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดได้นำไปสู่การพัฒนาและความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขของโลก

ในปี 1920 รัสเซียเป็นชาติแรกในโลกที่มีระบบสาธารณสุขที่ให้บริการประชาชนอย่างถ้วนหน้าและบริหารจัดการโดยรัฐบาลกลาง ก่อนที่ประเทศอื่น ๆ จะดำเนินรอยตามหลังจากนั้นไม่นาน

ลอรา สปินนีย์ เขียนในหนังสือแนววิทยาศาสตร์ของเธอว่า "หลายประเทศได้ก่อตั้งหรือยกระดับกระทรวงสาธารณสุขในช่วงทศวรรษที่ 1920...นี่เป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากโรคระบาด"

ขณะที่เจนนิเฟอร์ โคล นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยรอยัลฮาโลเวย์ ในกรุงลอนดอน ชี้ว่า สงครามการต่อสู้กับโรคระบาดได้ทำให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก

"การจัดหาสวัสดิการโดยรัฐถือกำเนิดมาจากสถานการณ์นี้ เนื่องจากมีหญิงม่าย เด็กกำพร้า และผู้ทุพพลภาพ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก" เธออธิบาย

การล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคมใช้ได้ผลในตอนนั้น

Getty Images
การเว้นระยะห่างทางสังคมแสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยสกัดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 ได้

ย้อนกลับไปช่วงเดือน ก.ย.ปี 1918 หลายเมืองในสหรัฐฯ กำลังตระเตรียมจัดพาเหรดเพื่อโฆษณาขาย "พันธบัตรเสรีภาพ" เพื่อนำเงินไปทำสงครามในยุโรป

ผู้บริหารของเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย เองก็ตัดสินใจเดินหน้าจัดงาน แม้มีทหารกว่า 600 นาย ในเมืองป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สเปนแล้ว

ส่วนที่เมืองเซนต์หลุยส์ ในรัฐมิสซูรี ทางการได้ยกเลิกงานดังกล่าว แล้วได้บังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อจำกัดการรวมกลุ่มกันของผู้คนจำนวนมากแทน

เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน เมืองฟิลาเดลเฟีย มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปนกว่า 10,000 คน ส่วนเมืองเซนต์หลุยส์ นั้นมีไม่ถึง 700 ราย

เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่โด่งดังที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด

นอกจากนี้ ทีมนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ยังวิเคราะห์การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในปี 1918 และพบหลักฐานบ่งชี้ว่า เมืองที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดกว่าสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่าหลังการเกิดวิกฤตโรคระบาด

โรคระบาดที่ถูกลืม ?

Public Domain
ภาพวาดตัวเองของเอ็ดเวิร์ด มุนช์ ขณะป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สเปน คือผลงานศิลปะเพียงไม่กี่ชิ้นที่บันทึกเรื่องราวของโรคระบาดที่เกิดขึ้น

แม้จะให้บทเรียนแก่ชาวโลกมากมาย แต่ดูเหมือนว่า ไข้หวัดใหญ่สเปนจะเป็นโรคระบาดที่ถูกลืม

เช่นเดียวกับโรคโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่สเปนส่งผลกระทบต่อบุคคลผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีลอยด์ จอร์จ ของอังกฤษ ต่างล้มป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สเปน ขณะที่ประธานาธิบดีรูดริกิส อัลวิส ของบราซิลต้องเสียชีวิตจากโรคร้ายนี้

อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่สเปนกลับถูกบดบังความสนใจของชาวโลกด้วยสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขณะนั้นรัฐบาลหลายประเทศใช้มาตรการเซ็นเซอร์ไม่ให้สื่อมวลชวนรายงานผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้ในช่วงสงคราม

นอกจากจะถูกปิดกั้นการรายงานข่าว การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนยังแทบไม่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมสมัยนิยมต่าง ๆ เช่น นวนิยาย บทเพลง หรืองานศิลปะ

แต่หนึ่งในศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานไว้ในช่วงนั้นคือ เอ็ดเวิร์ด มุนช์ จิตรกรชาวนอร์เวย์ที่วาดภาพของตัวเองในขณะป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สเปน

แม้การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนอาจถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนหรือจากหน้าประวัติศาสตร์โลก แต่การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นได้รื้อฟื้นความทรงจำ และย้ำเตือนถึงความรุนแรงของโรคระบาดที่นำหายนะมาสู่โลกเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง