รีเซต

จีนแบ่งปันเบื้องหลังความสำเร็จ 'ภารกิจแก้จน' ครั้งประวัติศาสตร์

จีนแบ่งปันเบื้องหลังความสำเร็จ 'ภารกิจแก้จน' ครั้งประวัติศาสตร์
Xinhua
2 มีนาคม 2564 ( 11:13 )
81

ปักกิ่ง, 1 มี.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันอาทิตย์ (28 ก.พ.) นิว ไชน่า รีเสิร์ช (NCR) หน่วยงานวิจัยสังกัดสำนักข่าวซินหัว เผยแพร่รายงาน "การศึกษาการขจัดความยากจนของจีน : มุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง" (Chinese Poverty Alleviation Studies: A Political Economy Perspective) ซึ่งระบุว่าความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ในการบรรเทาความยากจนของจีนที่เปรียบดังปาฏิหาริย์ ได้ส่งมอบมุมมองและประสบการณ์ใหม่แก่การต่อสู้กับความยากจนทั่วโลก

 

รายงานฉบับดังกล่าวหยิบยกวาทกรรมเกี่ยวกับการบรรเทาความยากจนของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นรากฐานแนวคิดและทฤษฎีก่อนถอดรหัส "สูตรสำเร็จ" การต่อสู้กับความยากจนของจีน พร้อมสำรวจเหตุผลเบื้องหลังการต่อสู้กับความยากจน และเผยนัยยะของการต่อสู้ดังกล่าวที่มีต่อโลก โดยรายงานอ้างคำกล่าวของสีว่า "จีนดำเนินนโยบายและมาตรการชุดพิเศษ สร้างระบบที่ครอบคลุมนโยบาย การทำงาน และสถาบัน กรุยเส้นทางและสร้างทฤษฎีบรรเทาความยากจนอันมีอัตลักษณ์จีน โดยอิงเงื่อนไขของประเทศและกฎเกณฑ์การบรรเทาความยากจน"

 

นอกจากนั้นรายงานสรุปวาทกรรมเกี่ยวกับการบรรเทาความยากจนของสีจิ้นผิงเป็น "ข้อยึดมั่น 7 ประการ" (seven upholds) ได้แก่ การยึดมั่นในความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) แนวทางที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง การร่วมปฏิบัติการจัดการกับความท้าทาย ยุทธศาสตร์แห่งความเที่ยงตรง การพึ่งพาตนเอง การพัฒนาร่วมกัน ตลอดจนแนวทางที่สามารถนำมาปฏิบัติและใช้ประโยชน์ได้จริง

 

(แฟ้มภาพซินหัว : พนักงานหญิงทำเสื้อผ้า ณ ศูนย์บรรเทาความยากจนในอำเภอถงซิน เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 24 ก.พ. 2021)

 

สูตรสำเร็จแห่งชัยชนะ

ชาวบ้านยากไร้ในชนบทกลุ่มสุดท้ายของจีนราว 98.99 ล้านคน ซึ่งอาศัยอยู่ภายใต้เส้นแบ่งความยากจน ได้หลุดพ้นจากความยากจนข้นแค้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยจีนบรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนที่กำหนดไว้ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ (UN) ล่วงหน้าถึง 10 ปี

"สูตรสำเร็จแห่งชัยชนะ" ในความพยายามบรรเทาความยากจนของจีน ประกอบด้วยการยึดมั่นแนวคิดการวิพากษ์เชิงบวก และการปรับปรุงกลไกตลาดที่มุ่งสนับสนุนคนยากจนภายใต้การแนะนำของรัฐบาล โดย "ภาระ" ความยากจนในจีนถูกแปรเป็นขุมพลัง ทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติในพื้นที่ยากจนกลายเป็นเครื่องมือนำทางสู่การพัฒนาและความมั่งคั่งร่วมกัน

 

รายงานระบุว่าพื้นที่ยากจนจำนวนมากหยิบใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นมาพัฒนาธุรกิจต่างๆ พร้อมกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสการทำงานในท้องถิ่น โดยแนวทางสำคัญของการบรรเทาความยากจนในจีน คือรักษาเป้าหมายความมั่งคั่งร่วมกันของชาติด้วยการสร้าง "ตลาดหนุนหลังคนจน" (pro-poor market) ซึ่งทั้งรัฐบาล ตลาด และสังคมต่างทำงานร่วมกันเพื่อปลดปล่อยผลิตภาพของคนยากจนและทำให้พวกเขามีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจ

"มือที่มองเห็น" ของรัฐบาลที่มีความสามารถ ไม่ใช่ "มือที่เข้ายุ่มย่าม" แต่เป็น "มือที่คอยส่งเสริม" การบรรเทาความยากจนอย่างตรงจุด ขณะที่ "ตลาดหนุนหลังคนจน" ไม่ได้บิดเบือนตลาดรูปแบบปกติแต่อย่างใด หากเป็นการรื้อสร้างตลาดขึ้นมาใหม่

 

เหล่าผู้ประกอบการเอกชน องค์กรทางสังคม และประชาชนแต่ละคน เป็นสามขุมพลังใหม่ของภารกิจบรรเทาความยากจนในจีน ขณะผู้คนท้องถิ่นที่ร่ำรวย แรงงานอพยพ นักธุรกิจ และบัณฑิตจากพื้นที่ยากจนในจีนต่างมีบทบาทสำคัญเช่นกัน

 

(แฟ้มภาพซินหัว : แพทย์ลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านป่วยโรคเรื้อรังในอำเภอหลานเกา มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 30 ก.ค. 2020)

 

แรงขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมอันทรงพลัง

รายงานกล่าวว่าการต่อสู้กับความยากจนของจีนสอดคล้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศในการช่วยเหลือคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ทั้งยังสอดรับกับ "ความเชื่อมั่นของโลก" ในการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน นอกจากนั้นแนวคิดความมั่งคั่งร่วมกันยังถือเป็นคุณลักษณะสังคมในอุดมคติของอารยธรรมจีนที่เก่าแก่ยาวนานกว่า 5,000 ปีด้วย

อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาเศรษฐศาสตร์ปี 1998 เผยว่าจีนไม่เพียงประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบัน แต่ยังมีอารยธรรมโบราณอันโดดเด่น โดยเซนมองว่าจีนต้องเดินหน้าสร้างอนาคตต่อไปโดยไม่ละทิ้งอดีตของตน

 

รายงานเน้นย้ำว่าประสบการณ์และโครงการบรรเทาความยากจนของจีน ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานแห่งแนวปฏิบัติและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอันครอบคลุม ไม่เพียงยกระดับทฤษฎีบรรเทาความยากจนและการพัฒนาเท่านั้น แต่ยังสะท้อน "ความเชื่อมั่นของโลก" ในการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกันด้วย

จีนส่งเสริมการบรรเทาความยากจนทั่วโลก โดยยึดถือ "ความเชื่อมั่นของโลก" มาเนิ่นนานแล้ว อีกทั้งยึดถือพันธกิจการเข้าถึงนานาประเทศและให้ความช่วยเหลือประชาคมโลก โดยรายงานระบุว่า "วิสัยทัศน์ของประชาคมโลก" ซึ่งอยู่เหนืออุดมการณ์ รัฐชาติ และพรรคการเมือง เป็น "ข้อเสนอของจีน" ในการส่งเสริมการบรรเทาความยากจนทั่วโลก

 

(แฟ้มภาพซินหัว : โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบรรเทาความยากจน ณ นิคมพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว แคว้นปกครองตนเองไห่หนาน กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 17 ส.ค. 2020)

 

นัยสำคัญต่อโลก

รายงานเรียกขานจีนว่า "ผู้เรียนรู้ ผู้รับผลประโยชน์ และผู้ริเริ่มทฤษฎีบรรเทาความยากจนทั่วโลก" โดยสรุปมุมมองผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเกี่ยวกับแรงบันดาลใจจากจีนที่มีต่อโลกเป็น "5ดี" (5Ds) ได้แก่ ภาวะผู้นำอันแน่วแน่ แผนงานอันละเอียดลออ การพัฒนาเป็นแกนกลาง การกำกับดูแลที่อิงข้อมูล และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

"ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการบรรเทาความยากจนคือตัวอย่างภาวะผู้นำอันชัดเจนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน" รายงานระบุพร้อมเน้นย้ำเจตจำนงอันแน่วแน่ของผู้นำสูงสุด ซึ่งมีบทบาทก่อร่างสร้างเจตจำนงอันเข้มแข็งของชาติ รวมถึงขับเคลื่อนการจัดสรรทรัพยากรและความเป็นผู้นำของสมาชิกพรรคฯ ทั้ง 91 ล้านคน

 

กลุ่มผู้นำจีนหลายรุ่นกำหนดเป้าหมายขจัดความยากจนขั้นสูงสุดร่วมกัน พวกเขาวางแผนงานเชิงกลยุทธ์และนำพาประเทศต่อสู้กับความยากจน ซึ่งช่วยรับประกันว่านโยบายต่างๆ มีความต่อเนื่อง และกระตุ้นทั้งประเทศร่วมดำเนินงานสู่เป้าหมายหนึ่งเดียวกัน

ขณะเดียวกันจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในการต่อสู้กับความยากจนด้วย โดยผสานรวมการพัฒนาเศรษฐกิจเข้ากับแนวทางบรรเทาความยากจนเชิงรุกอย่างตรงจุด ส่งผลให้ทุกครัวเรือนยากจนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรงและขจัดความยากจนอย่างสมบูรณ์

 

(แฟ้มภาพซินหัว : ชาวบ้านถ่ายภาพเต็นท์ตั้งแคมป์ที่จัดไว้รองรับนักท่องเที่ยวในแคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 23 พ.ย. 2019)

 

รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพัฒนาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการประยุกต์ใช้การจัดการดิจิทัลขั้นสูง ซึ่งทำให้งานบรรเทาความยากจนของจีนประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น

รายงานระบุว่าการดำเนินนโยบายบรรเทาความยากจนอย่างมีประสิทธิผลนั้นเป็นผลจากลักษณะโครงสร้างการกำกับดูแลแบบ "กระจายอำนาจ" ของจีน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนในระดับท้องถิ่นหลายครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การดำเนินนโยบายในระดับชาติ

 

นอกเหนือจากการแบ่งปันประสบการณ์แล้ว จีนยังมุ่งมั่นต่อสู้กับความยากจนระดับโลกด้วยการเข้าร่วมโครงการส่งมอบความช่วยเหลือ สนับสนุนโครงการ "พัฒนาขีดความสามารถ" และส่งเสริมแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วย

"จีน ซึ่งอาศัยประสบการณ์และแนวคิดเชิงทฤษฎีของตนเองมาบรรเทาความยากจนภายในประเทศ กำลังช่วยเหลือมนุษยชาติหลุดพ้นจากความยากจน รวมถึงเป็นแหล่งอ้างอิงใหม่แก่นานาประเทศและภูมิภาค"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง