รีเซต

'ดร.สุรเกียรติ์' แนะจับตาจีนเขย่าโลก ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ให้ทัน

'ดร.สุรเกียรติ์' แนะจับตาจีนเขย่าโลก ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ให้ทัน
มติชน
5 มีนาคม 2565 ( 16:01 )
51

ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและ ความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) และกรรมการการประชุมโบอ่าวแห่งเอเชีย (Boao Forum for Asia) ปาฐกถาพิเศษ ในงานครบรอบ 67 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง “ยุทธศาสตร์ สี จิ้น ผิง” เขย่าโลก ไทยจะอยู่อย่างไร ว่า ปัจจุบันประเทศจีนมีความสำคัญที่จะเขย่าโลกได้ เพราะจีนมียุทธศาสตร์ที่สามารถส่งผลต่อภูมิสถาปัตย์ทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองของโลก และยังสามารถแข่งขันกับชาติมหาอำนาจอื่นได้ ขณะที่ชาติมหาอำนาจอื่นก็ยังแสดงความต้องการแข่งขันกับจีนด้วย

 

“แท้ที่จริงแล้วการเขย่าโลกไม่ใช่การเขย่าแค่ให้จีนใหญ่ขึ้นมา แต่เป็นการเขย่าเพราะจีนมีความสำคัญพอในระดับโลก ตอนนี้การเมืองภายใน และเศรษฐกิจภายในของจีนมีความเข้มแข็งพอ และมียุทธศาสตร์ที่แหลมคมที่สามารถแข่งขันกับชาติมหาอำนาจได้”

 

ดร.สุรเกียรติ์ ขยายความถึงความสำคัญของจีนจะเขย่าโลกได้หรือไม่ ว่า เรื่องนี้มีเหตุผลด้วยกัน 14 ประการ ประการที่ 1 คือ จีนผงาด โดยจีนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับโลกทั้งทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีนได้ผงาดในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก สามารถขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำได้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาไม่กี่ 10 ปีเท่านั้น

 

ประการที่ 2 การเน้นกิจการภายในของจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจควบคู่ (Dual Circulation) คือเศรษฐกิจในระเทศควบคู่เศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งการทุ่มงบประมาณมหาศาลในการสร้างพื้นฐานในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นภายในประเทศ (Homegrown) เช่นเดียวกับการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สร้างสังคม ความรักชาติ และรักษาความต่อเนื่องของผู้นำ ทำให้จีนมีความมั่นคงและมีความโดดเด่นอย่างมาก

 

ประการที่ 3 ต้องติดตามจีนที่ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองจีน (CPPCC) และสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ในวันที่ 5 มี.ค.2565 โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน จะรายงานภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ พร้อมพิจารณาทบทวนเป้าหมายของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งติดตามนโยบายภาษี นโนบาย Zero Covid และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


ขณะเดียวกันหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน จะมีการรายงานนโยบายทางด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทั้งการไม่ประนามสหรัฐฯ การที่จะมีบทบาทที่จะเข้าไปช่วยดูเรื่องของสันติวิธีได้อย่างไร และการสร้างความเข้าใจว่ารัสเซียมีความห่วงใยในความมั่นคงของประเทศ โดยไม่อยากให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO มาตั้งจุดรบหรืออาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน

 

 

ประการที่ 4 สร้างยุทธศาสตร์สร้างไข่มุก (String of Pearls) ร้อยประเทศต่าง ๆ เอเชียเข้าด้วยกัน ประการที่ 5 สร้างยุทธศาสตร์ 2 มหาสมุทร (Two Ocean Strategy) ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งไทยมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางยุทธศาสตร์ ประการที่ 6 สร้างยุทธศาสตร์ Pan-Beibu Gulf Cooperation โดยให้มณฑลกวางตุ้ง กวางสี และไหหลำ เป็นจุดเชื่อมอาเซียน ประการที่ 7 สร้างยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiatives หรือเส้นทางสายใหม่ทางบกและทางทะเล

 

ประการที่ 8 การสร้างระบบการระดมทุนเพื่อการพัฒนาใหม่ : ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure. Investment Bank : AIIB) ประการที่ 9 สร้างการระดมทุนเพื่อการพัฒนาใหม่ : ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ภายใต้กลุ่มบริกส์ (BRICS) ประการที่ 10 การเกิดระบบสร้างเสถียรภาพของการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน : มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีหรือ CMIM (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ประการที่ 11 ยุทธศาสตร์ทางการเงิน โดยทำให้เงินหยวนมีบทบาทมากยิ่งขึ้น และให้เป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศ และใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศ

 

ประการที่ 12 การเกินเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ทั้ง Fin Tech และ Tech Fin รวมทั้งเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT) เช่นเดียวกับ Blockchain และ การสร้างเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ (Central Bank Digital Currency) รวมไปถึงการทำเงินหยวนดิจิทัล ที่ได้รับการการันตีโดยธนาคารกลาง ประการที่ 13 จีนประกาศนโยบาย Made in China 2025 และ ประการที่ 14 การประกาศเป็นประเทศชั้นนำทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายในปี ค.ศ.2030

 

ดร.สุรเกียรติ์ ยังมองว่า ด้วยเหตุผลทั้ง 14 ข้อนี้ แม้จะเห็นว่าจีนมีความสำคัญ แต่จีนจะเขย่าโลกไม่ได้ทั้งหมดถ้าไม่มีคู่แข่ง ดังนั้นจึงต้องมาดูปัจจัยของจีนว่าจะแข่งกับชาติมหาอำนาจอันดับ 1 คือสหรัฐอเมริกา ได้หรือไม่ โดยมีปัจจัยการแข่งขันต่าง ๆ ดังนี้ 1.การแข่งขันทางเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และ Cyber Security 2.การแข่งขันในการมีอิทธิพลในเอเชีย 3.การแข่งขันกันหามิตรผ่านกรอบความร่วมมือด้านต่าง 4.การแข่งขันหามิตรผ่านการทูตเชิงสุขภาพ โดบเฉพาะในช่วงการเกิดการระบาดไวรัสโควิด-19
5.การแข่งขันด้านความคิดริเริ่มในด้านต่าง ๆ 6.การแข่งขันในกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค 7.การแข่งขันด้านค่านิยมระหว่างประเทศ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ด้านสิงแวดล้อม หรือด้านธรรมาภิบาล 8.การแข่งขันกันวิจารณ์จุดอ่อน 9.การแข่งขันสร้างภาพเชิงลบต่อกันและกันในสาธารณะ และ 10.การแข่งขันในการวางจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศ ให้มีความชัดเจน ยืดหยุ่น และปรับตัวได้

อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทยเองนั้น จะสามารถปรับตัวอยู่อย่างไรภายใต้สถานการณ์จีนเขย่าโลก ซึ่งมีเรื่องที่สำคัญต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้

1.ไทยต้องเข้าใจยุทธศาสตร์และนโยบายของจีน ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างลึกซ้ำและเพียงพอ

2.ไทยต้องเข้าใจยุทธศาสตร์และการแข่งขันด้านการต่างประเทศของชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ

3.ไทยต้องสร้างสมดุลในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ทั้งจีนและสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดให้ได้ โดยไม่เลือกประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อดูว่ายุทธศาสตร์ใดที่ส่งผลประโยชน์กับประเทศ

4.ไทยต้องมีความแน่นแฟ้นกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และอาเซียน ในการสร้างสมดุลกับชาติมหาอำนาจ หลังจากชาติมหาอำนาจต่าง ๆ กำลังเฝ้ามองภูมิภาคอาเซียนเพื่อเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาค

5.ไทยต้องมีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับชาติมหาอำนาจในระดับรอง เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เพื่อถ่วงให้เกิดสมดุลระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยเสนอว่า ประเทศไทยต้องเข้าหาอินเดียมากกว่านี้ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง

6.ไทยต้องมีจุดยืนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่มีบูรณาการ เพื่อให้เกิดความสมดุลในปฏิสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจในหลาย ๆ ด้าน

7.ไทยต้องดึงประโยชน์จากยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจที่มีต่อเศรษฐกิจ และสังคมไทย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ทางด้านต่างประเทศให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การดึงดูดความร่วมมือในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่นเดียวกับความร่วมมือทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ด้วย

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า โดยสรุปแล้วประเทศไทยจะอยู่อย่างไร เรื่องนี้ก็คงต้องอยู่แบบไทย ๆ ไปเหมือนเดิม แต่ต้องอยู่แบบใกล้ชิดกับชาติมหาอำนาจทุกฝ่าย สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมทั้งมียุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดขึ้น เร็วขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องปรับตัวเร็ว เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยชาญฉลาดแต่อาจช้าเกินไป และไม่ทันกับการที่จะได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนสุดท้ายขอให้เร่งประสานองคาพยพ และภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย เพื่อทำให้ประเทศไทยอยู่ได้ท่ามกลางจีนและชาติมหาอำนาจที่กำลังเขย่าโลกอยู่ในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง