รีเซต

บอร์ดอีวีป่วนไร้ปธ. ก.อุตส่งหนังสือถาม "วิษณุ" ด้าน "สุพัฒนพงษ์" บ่นเสียดายไม่ได้คุม

บอร์ดอีวีป่วนไร้ปธ. ก.อุตส่งหนังสือถาม "วิษณุ" ด้าน "สุพัฒนพงษ์" บ่นเสียดายไม่ได้คุม
มติชน
29 กันยายน 2563 ( 08:12 )
86

บอร์ดอีวีป่วน ก.อุตรอคำตอบจาก”วิษณุ”ใครนั่งปธ. เผย “ไพรินทร์” จี้เพิ่มเป้าผลิตอีวีเกิน30% ปี73 ด้าน”สุพัฒนพงษ์”บ่นเสียดายหากไม่ได้กำกับเอง เผยก.พลังงานอยากได้ความชัดเจนแผนอีวีประเทศก่อนเดินหน้า

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า100% (อีวี) ว่า เรื่องรถยนต์อีวีเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง โดยกระทรวงพลังงาน เป็นกระทรวงหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในมุมของกระทรวงพลังงานมีข้อเสนอคือ อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนว่ารถยนต์อีวีจะเอาอย่างไร จะเดินไปทางไหน อย่างเป้าหมายจะมีรถยนต์อีวี 25-30% ในปี 2570 หรือ 2030 เพียงพอทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของรถยนต์อีวีได้หรือไม่ ต้องหาคำตอบตรงนี้ ถ้าคำตอบคือใช่จะได้ผลักดันให้เกิด วันนี้มีหลายเจ้าภาพ อยากให้ดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

“ตอนนี้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ผมไม่ได้เป็นประธาน น่าเสียดาย ส่วนจะเป็นใครผมไม่ทราบ แต่ฝ่ายเลขานุการคือกระทรวงอุตสาหกรรม เชื่อว่าเร็วๆนี้จะมีการพูดคุยเรื่องนี้ ตอนนี้มีกิจกรรมที่ต้องทำเยอะ มีหลายเรื่องที่ต้องจัดการ บางเรื่องไม่เร่งด่วนก็เอาไว้ก่อน แต่บางเรื่องเร่งด่วนกว่า สำคัญกว่า อย่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องนี้สำคัญ ด่วน ต้องรีบ ส่วนรถยนต์อีวีเป็นเรื่องแผนงานในอนาคต รออีกนิด”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

 

รายงานข่าวจากอุตสาหกรรมรถยนต์ แจ้งว่า ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างขับเคลื่อนนโยบายอีวีต่อเนื่อง โดยนายกอบชัย ได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ประสานไปยังทีมงาน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสอบถามความชัดเจนโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี) จะเป็นอย่างไร เพราะเดิมนายกรัฐมนตรี มอบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนี้ นายกอบชัย ยังอยู่ระหว่างการหารือกับค่ายรถยนต์ ผู้บริหารกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงสัดส่วนการผลิตรถอีวีของไทย เพราะปัจจุบันไทยมีนโยบายผลิตรถอีวี คิดเป็น 30% ในปี ปี 2030 หรือ 2573 ของรถยนต์ที่ผลิตได้ แต่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หรือศบศ. ต้องการให้กำหนดสัดส่วนที่มากกว่านั้น ขณะนี้จึงมีบางฝ่ายเสนอให้ผลิตสัดส่วน 70% เพราะประเทศยุโรปบางประเทศตั้งเป้าผลิต 100% ในปี 2030 จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม

 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีการจัดทำแฟลกชิป 3 อุตสาหกรรมหลักที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า รถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า มูลค่ามหาศาล เครื่องมือแพทย์ มูลค่าตลาดการประมาณ 2 แสนล้านบาท และอาหารเพื่อสุขภาพ มูลค่าตลาดประมาณ 3-4 แสนล้านบาท โดยทั้งหมดมีโอกาสสร้างรายได้ให้ประเทศ ภาคกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยจะมีการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องและจัดทำข้อสรุปเสนอต่อนายไพรินทร์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ศบศ. ให้พิจารณา เพราะมีนโยบายให้กระทรวงเดินหน้า โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง