รีเซต

สดช.-กรมราชทัณฑ์ ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ผู้ต้องขัง ปูทางกลับคืนสู่สังคม

สดช.-กรมราชทัณฑ์ ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ผู้ต้องขัง ปูทางกลับคืนสู่สังคม
มติชน
8 มีนาคม 2565 ( 15:40 )
56
สดช.-กรมราชทัณฑ์ ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ผู้ต้องขัง ปูทางกลับคืนสู่สังคม

ข่าววันนี้ 8 มีนาคม นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พร้อมด้วย นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขังให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล นำร่อง 2 เรือนจำ ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่และเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา

 

 

นายภุชพงค์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อผลักดันการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่ภาครัฐมีการวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้สามารถเข้าถึงพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างรู้เท่าทัน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม

 

 

“ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง และยังมีผลต่อการปรับ และเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์ของวิถีชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการทำงาน ในปัจจุบัน ที่ต้องมีการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลตลอดเวลา และทันต่อสถานการณ์ ดังนั้นทาง สดช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญพื้นฐานในการพัฒนาด้านบุคลากรในทุกภาคส่วน” นายภุชพงค์ กล่าว

 

 

ด้านนายอายุตม์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์มีนโยบายในด้านการควบคุมดูแลและการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และของกระทรวงยุติธรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตามนโยบาย “ลดความแออัดในเรือนจำ ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ สร้างโอกาสกลับสู่สังคม พัฒนาสิทธิผู้ต้องขัง พัฒนาบุคลากร นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้แก้ไขปัญหาทุจริตในระบบราชทัณฑ์” ดังนั้นการดูแลผู้ต้องขัง นอกจากด้านความประพฤติแล้ว การพัฒนาทักษะความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นภายหลังจากพ้นโทษ จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำ

 

“การสร้างองค์ความรู้ นำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาอบรมและฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างอาชีพได้ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีภายหลังจากพ้นโทษ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ นำร่อง 2 เรือนจำ คือทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีศักยภาพ และความพร้อมในด้านบุคลากรและเครื่องมือ และทางกรมฯ จะพิจารณาขยายการอบรมดังกล่าวไปยังเรือนจำอื่นต่อไป” นายอายุตม์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง