รีเซต

จับตา! สรรพสามิตฟื้นกองทุนแบตเตอรี่ เทคโนโลยีล้ำ-รับนโบบายส่งเสริมรถอีวี

จับตา! สรรพสามิตฟื้นกองทุนแบตเตอรี่ เทคโนโลยีล้ำ-รับนโบบายส่งเสริมรถอีวี
มติชน
23 กุมภาพันธ์ 2564 ( 10:57 )
38
จับตา! สรรพสามิตฟื้นกองทุนแบตเตอรี่ เทคโนโลยีล้ำ-รับนโบบายส่งเสริมรถอีวี

“ลวรณ”อธิบดีสรรพสามิตเตรียมทบทวนการจัดตั้งกองทุนแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังหารือผู้ผลิตไฟฟ้าพบเทคโนโลยีก้าวหน้า ซากแบตฯรีไซเคิลได้ ชี้กองทุนฯสอดรับนโยบายส่งเสริมลงทุนอีวีของรัฐบาล โดยสรรพสามิตกำลังเร่งทำโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าไทย

 

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีแนวทางที่จะทบทวนแนวทางการจัดตั้งกองทุนแบตเตอรี่ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในปัจจุบันที่พัฒนาก้าวหน้าไปมาก สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่ขณะนี้เทคโนโลยีการผลิตปรับเปลี่ยนไปมาก กรมจึงจะดูให้รอบคอบในการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

 

อ่านข่าว จับตาหน่วยราชการจัดซื้อรถอีวี หลังสำนักงบประมาณประกาศราคากลางแล้ว

 

นายลวรณ กล่าวว่า ไม่นานมานี้ กรมฯได้มีการหารือกับผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชั้นนำของประเทศ แล้วพบกว่าการผลิตแบตเตอรี่มีความก้าวหน้าไปจากเดิมมากๆ โดยซากของแบตเตอรี่ไม่จำเป็นต้องนำไปทิ้งหรือกำจัดแล้ว เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพียงปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนอุปกรณ์ในตัวแบตเตอรี่บางชนิด อาทิ จากแบตเตอรี่ใช้รถยนต์ หากครบอายุการใช้งานแล้ว สามารถนำมาประยุกต์ใช้แบตเตอรี่ในบ้านได้ หรือเปลี่ยนแค่แผงเซลไฟฟ้าบางชิ้น ก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

 

นายลวรณ กล่าวว่า แนวทางในการจัดตั้งกองทุนแบตเตอรี่จะต้องสอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ตามโยบายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค หากผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษน้อย ก็จะได้รับการเสียอัตราภาษีที่ต่ำไปด้วย

 

“โครงสร้างภาษีรถยนต์ทั้งระบบ กรมจะต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากอัตราโครงสร้างภาษีรถยนต์อีโคคาร์ จะหมดสิทธิประโยชน์ในปี 2568 ฉะนั้น จะต้องเร่งทำให้ชัดเจนโดยเร็ว เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนล่วงหน้าในการย้ายเข้ามาลงทุนในไทยได้ เพราะการลงทุนจะต้องมีการวางแผนการลงทุนระยะยาว” นายลวรณ กล่าว

 

นายลวรณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประเทศไทยยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างภาษีในการส่งเสริมการลงทุนยังสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งยังมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ที่มีผู้ใช้จำนวนมากเมื่อเทียบกับบางประเทศในอาเซียน ที่ยังมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่มาก แต่คู่แข่งบางประเทศยังมีจุดแข็งในเรื่องแร่ธาตุที่หาง่าย สำหรับใช้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้าบางชนิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง