รีเซต

ระดมเปิดทางน้ำคลองนางหงส์ แก้น้ำท่วมสมุทรปราการ ตามคำบัญชานายก"บิ๊กตู่"

ระดมเปิดทางน้ำคลองนางหงส์ แก้น้ำท่วมสมุทรปราการ ตามคำบัญชานายก"บิ๊กตู่"
ข่าวสด
16 กันยายน 2564 ( 16:19 )
79

ตามคำบัญชานายก รองผู้ว่าฯ ระดมเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน เร่งเปิดทางน้ำคลองนางหงส์ หลัง บิ๊กตู่ ลงพื้นที่สมุทรปราการ สั่งแก้น้ำท่วม

 

 

วันที่ 16 ก.ย.2564 ที่ประตูระบายน้ำคลองนางหงส์ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ. สมุทรปราการ นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผวจ.สมุทรปราการ พร้อมด้วย นายชวลิต ทรงกิตติ นายอำเภอบางบ่อ นายภูวดล คำพุฒ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร นายณรงค์เดช วงศ์ประเสริฐ รองนายก อบต.คลองด่าน พ.ต.ท.จักรกฤษณ์. วงศ์สวัสดิ์. สว. กก.2 บก.รน. เจ้าหน้าที่แขวงการทางสมุทรปราการ และเจ้าหน้าที่ปภ.สมุทรปราการ

 

 

ร่วมกันนำกำลังเข้าดำเนินการเปิดทางน้ำประตูระบายน้ำคลองนางหงส์ เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมในพื้นที่จ.สมุทรปราการ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.บางบ่อ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2564 และได้สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

 

 

 

 

นายชัยพจน์ กล่าวว่า พื้นที่น้ำท่วมในเขต อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เกิดจากจุดดังกล่าวเป็นจุดบรรจบกันระหว่างคลองพระองค์ไชยานุชิต เป็นคลองแนวดิ่งรับน้ำจากกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก รังสิต ปทุมธานี มาบรรจบกับ คลองสำโรง ซึ่งรองรับน้ำจากในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นคลองแนวขวางโดยน้ำทั้งสองคลองจะระบายออกทางคลองด่านตรง ประตูระบายน้ำโครงการชลหารพิจิตรเป็นหลัก ที่ผ่านมามาแม้ว่าจะเร่งสูบน้ำจากประตูระบายน้ำโครงการชลหารพิจิตรจนน้ำในคลองด่านแห้ง

 

 

 

 

"แต่ยังพบว่าน้ำที่ท่วมอยู่ลดระดับน้อยมาก เมื่อมีฝนตกในพื้นที่ เพิ่มก็จะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นตลอดแนวคลองสำโรง จ.สมุทรปราการการ จึงหาวิธีที่จะระบายน้ำให้ลงทะเลเร็วขึ้นเพื่อให้น้ำคลองสำโรงระดับน้ำลดระดับเร็วขึ้น โดยการเพิ่มการระบายน้ำมาทางคลองกัญญา เพื่อสูบออกทางประตูระบายน้ำคลองนางหงส์ ซึ่งเป็นคลองเส้นตรงที่จะใช้ระยะทางน้อยระบายน้ำจากจุดที่ท่วมในเขต อ.บางบ่อ ลงทะเลได้เร็วกว่า แต่ก็ติดปัญหาว่า คลองด้านหลังประตูระบายน้ำตื้นเขิน

 

 

 

 

ตั้งแต่สะพานลอด ถนนสุขุมวิท ถึงชายทะเลประมาณ 1 ก.ม. หากมีการสูบน้ำอย่างเต็มกำลัง 4 เครื่อง อาจจะทำให้น้ำไหลลงทะเลไม่ทัน อาจท่วมสร้างความเสียหายกับประตูระบายน้ำ ถนนสุขุมวิท หรือสะพาน ได้วันนี้จึงมีการระดมกำลังในการเปิดทางน้ำ โดยการใช้เรือขุดตั้งแต่สะพานข้ามคลอง ถนนสุขุมวิท ถึงชายทะเล ส่วนใต้สะพานไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ ต้องใช้แรงงานคน โดยการใช้เครื่องแรงดันน้ำสูงฉีดสลายตะกอน และใช้กำลังตำรวจน้ำในการใช้พลั่วตักดินตะกอนใต้น้ำออกจากใต้สะพาน คิดว่าจะสามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น" รองผู้ว่าฯ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง