รีเซต

แทงกั๊กยุติขึ้นดอกเบี้ย แบงก์ถูกเก็งBBL-SCB

แทงกั๊กยุติขึ้นดอกเบี้ย แบงก์ถูกเก็งBBL-SCB
ทันหุ้น
30 มีนาคม 2566 ( 07:10 )
85
แทงกั๊กยุติขึ้นดอกเบี้ย แบงก์ถูกเก็งBBL-SCB

#กนง. #ทันหุ้น – กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ 1.75% ชี้เงินเฟ้อดีขึ้นเข้ากรอบกลางปี แต่ยังไม่มองจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยตรงไหน พร้อมลดเป้าจีดีพีส่งออกกดดัน แต่เพิ่มเป้าท่องเที่ยว เงินสะพัด ด้านวงการมองสิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว อาจจะทำให้ NIM แบงก์ไม่สูง แต่ราคายังถูก ไม่มีปัญหาเงินทุน งบไตรมาส 1 เพิ่ม แนะเข้า BBL – SCB – KTB – TTB

 

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี สู่ระดับ 1.75% ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 พร้อมกับปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.6% และ 3.8% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยปรับลดคาดการณ์ส่งออกเป็นติดลบ 0.7% แต่ปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ขึ้นเป็น 28 ล้านคน ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.9% เงินเฟ้อพื้นฐานที่ 2.4%

 

นายปิติ  ดิษยทัต เลขานุการ กนง. กล่าวว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง จะคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบ 1-3% ได้ช่วงกลางปี แต่ยังต้องจับตาเงินเฟ้อต่อไป เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจยังไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อได้มากนัก อาจส่งผ่านในระยะข้างหน้า

 

กนง. ยังไม่ได้มองว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยตรงไหน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ยังต้องติดตามต่อ แม้จะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง กระบวนการ Normalization จึงยังต่อทำต่อเนื่อง แรงกดดันเงินเฟ้อหลักๆ จะมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจจะเร็วกว่าคาด ปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

 

@ดอกเบี้ยหยุดที่ 1.75%

 

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินการประชุม กนง. ครั้งต่อไป (31 พ.ค.) อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% แต่ท่าทีและสัญญาณ กนง. ยังเปิดโอกาสไว้สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากสถานการณ์ยังเอื้อให้ปรับนโยบายต่ออีกเล็กน้อย

 

@ หุ้นแบงก์ลุยได้

 

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้  จำกัด ระบุว่า สถานการณ์ของหุ้นกลุ่มแบงก์จะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งทำให้มีส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) สูงขึ้นในไตรมาส 2 แต่ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่ไม่น่ากลัว และนำมาซึ่งการยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จากเดิมประเมินปีที่ผ่านมาว่าจะขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้ผลบวกต่อ NIM ลดลง

 

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 1/2566 เทียบไตรมาสก่อน จะฟื้นตัวตามฤดูกาล ยิ่ง KBANK ที่ไม่ได้ตั้งสำรองสูงเหมือนไตรมาสก่อน จะช่วยให้กลุ่มแบงก์ที่จะรายงานงบออกมาช่วงกลางเมษายนจะฟื้นตัวดี แต่ในเชิง NIM อาจจะไม่ได้สูงเพราะแบงก์กลับมานำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามปกติที่ 0.46 บาท

 

โดยมองว่าราคาหุ้นแบงก์ยังคงถูกอยู่มาก แม้ว่าจะไม่ได้รับลบวกจาก NIM ก็ยังน่าสนใจอยู่ ขณะที่ความกังวลในด้านปัญหาแบงก์นอกที่ขาดสภาพคล่องนั้น ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาการที่ราคาลงมาตามหุ้นธนาคารทั่วโลกไม่ค่อยสมเหตุสมผลเพราะแบงก์ไทยค่อนข้างแข็งแกร่งในด้านเงินทุน ส่วนโอกาสเจอปัญหา NPL หลัง ธปท. หมดมาตรการช่วยเหลือนั้น แม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนหน้านั้น จะทำให้ค่อยๆ ทยอยออกมา ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

จึงมองว่าหุ้นกลุ่มแบงก์น่าสนใจระยะยาวและสามาารถสะสมได้ โดยชอบ BBL ที่มีความเสี่ยงต่ำ จากสินเชื่อคอร์ปอเรต และการตั้งสำรองที่สูง ส่วน SCB มองว่าบริษัทที่แตกตัวออกมาลูกจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

 

@ สินเชื่อโตดี

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย  จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ธนาคารทั้ง 7 แห่งที่เราวิเคราะห์อยู่รายงานสินเชื่อรวมเดือนกุมภาพันธ์ ที่ 10.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% MoM (เทียบเดือนก่อน) และ 2.1% YoY (เทียบปีก่อน) นำโดย BBL, KKP และ KTB ซึ่งรายงานการเติบโตของสินเชื่อที่ 2.1%, 1.3% และ 0.4% ตามลำดับ ปัจจัยหนุนการเติบโตของสินเชื่อของ BBL มาจากสินเชื่อธุรกิจเป็นหลักขณะที่สินเชื่อของ KKP มีแรงขับเคลื่อนต่อเนื่องจากหลายกลุ่มทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์, สินเชื่อ SME ขนาดกลางและสินเชื่อธุรกิจ อย่างไรก็ดี TTB และ BAY รายงานการเติบโตของสินเชื่อติดลบที่ 0.7% และ 0.4% MoM ตามลำดับ ขณะที่ SCB เป็นธนาคารแห่งเดียวที่รายงานสินเชื่อเติบโตทรงตัว MoM คาดว่าโมเมนตัมการเติบโตของสินเชื่อจะดีต่อเนื่องในเดือนมีนาคม หนุนจากสินเชื่อภาครัฐและสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ลูกค้ากลุ่มธุรกิจเริ่มเบิกใช้วงเงินจากธนาคารเพื่อพัฒนาโครงการแทนที่จะใช้เงินทุนหมุนเวียน คาดว่าสินเชื่อจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 1/2566 แต่กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 1/2566 จะยังไม่น่าสนใจ โดยให้ KTB และ TTB ยังเป็นหุ้นเด่น

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง