รีเซต

เจาะนโยบายเทคฯ ปราบทุจริตภาครัฐ สู้ศึกเลือกตั้ง EP.1 | TNN Tech Reports

เจาะนโยบายเทคฯ ปราบทุจริตภาครัฐ สู้ศึกเลือกตั้ง EP.1  | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
6 พฤษภาคม 2566 ( 17:39 )
67
เจาะนโยบายเทคฯ ปราบทุจริตภาครัฐ สู้ศึกเลือกตั้ง EP.1  | TNN Tech Reports



กลางเดือนพฤษภาคม 2566  เป็นอีกครั้งที่คนไทยจะกำหนดชี้ชะตาประเทศ ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. สู่การเลือกรัฐบาลมาบริหารประเทศ  โดยช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนถึงปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งผลสำรวจชี้ว่า 


"ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน เป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศ และต้องการให้รัฐบาลชุดต่อไปแก้ไขปัญหานี้มากที่สุด ตามมาด้วยปัญหาด้านการศึกษา และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ"



ในผลสำรวจระบุว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 83.6 จะไม่เลือกพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ผลสำรวจนี้จึงถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของประชาชนที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกรัฐบาลใหม่ นำไปสู่การขับเคี่ยวกันของนโยบายจากพรรคการเมือง ที่จะมุ่งโดนใจประชาชนให้ได้มากที่สุด


แนวทางการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศของพรรคการเมืองต่าง ๆ 



"พรรคไทยสร้างไทย"


แนวคิดจากพรรคไทยสร้างไทย ก็คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยร้องเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาปรับตำแหน่ง เพิ่มขั้นของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกกลั่นแกล้งจากผู้ที่ไม่หวังดีผ่านด้วยระบบจักรกลอัจฉริยะ 


เทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน 

รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย


"ทำเรื่องบล็อกเชน ให้สามารถสะท้อนและให้ความเห็นเจ้าหน้าที่รัฐต่าง ๆ ได้ เพื่อเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจปรับตำแหน่งต่าง ๆ  มีแอปฯ เยอะแยะเลย วันหน้าเจ้าหน้าที่เอคนนั้นจะขึ้นตำแหน่งเป็นซูเปอร์ไวเซอร์ เป็น ผอ. ต่าง ๆ ดูข้อมูลปุ๊บ ประชาชนตำหนิเยอะมาก รู้หมด สิ่งที่เป็นมือถือที่อยู่ในมือเขาทำได้มากกว่าแค่โทรศัพท์ เป็นเครื่องมือในการสะท้อนความเห็น ตอบสนองต่อทุจริตต่าง ๆ สามารถที่จะถ่ายรูปส่งเป็นหลักฐานสิ่งนี้สามารถทำได้กับสิ่งที่มีอยู่แล้ว "


"เราต้องให้ระบบแมชชีนคิดวิเคราะห์ ถ้าเห็นคนรายงานทุจริตทุกอย่างในโลกนี้มันก็แปลก ๆ มันต้องมีการหา Error และการหารูปแบบข้อมูลที่ผิดปกติหรือผิดแปลกไป ผมคิดว่าสามารถที่จะระบุตัวเจอได้ เมื่อเจอเสร็จก็ส่งให้หน่วยงานตรวจสอบต่อไป ผมคิดว่า ข้อมูลยิ่งเยอะมันทำให้เกิดการสร้างฐานข้อมูลที่ใหญ่ขึ้น เราในยุคนี้มันแตกต่าง เมื่อ 10 ปีที่แล้วบล็อกเชนแค่จดบันทึก แต่เดี๋ยวนี้ Machine Learning AI กลไกความคิดทั้งหลาย มันอ่านได้แม่นขึ้น และวิเคราะห์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม และนี่คือเสน่ห์ที่ทันสมัยมาก"



"พรรคก้าวไกล"


แนวคิดของพรรคก้าวไกลจะมุ่งตรวจสอบการทำงานภาครัฐ เช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้าง แทนที่การตรวจสอบด้วยแรงงานคนที่มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้แม่นยำขึ้น ซึ่งถ้าหาก AI ตรวจพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการประมูลก็จะทำให้รู้ปัญหาและแก้ไขได้ทันท่วงที โดยจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกับกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์สูงสุด


ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 

รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล


"ถ้าเราอยากแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นทำอย่างไร  1. เพิ่มการยึดโยงต่อประชาชน ก็อย่างที่เราผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ อย่างที่ 2 เพิ่มเรื่องของลดการใช้ดุลพินิจ แล้วทำอย่างไรก็ได้ให้เอาระบบเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อตัดตัวกลาง ลดการใช้อำนาจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างที่ 3 เอาเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมความโปร่งใสเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ทำเป็นลักษณะของตัวระบบจับโกง 


เอาวิธีการคิดแบบนี้ใส่ไปในโปรแกรม ซึ่งสิ่งที่โปรแกรมจะช่วยก็คือ โครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของภาครัฐที่มีเป็น 10,000 เป็น 100,000 เพราะว่างบประมาณปีหนึ่งมัน 3 ล้านล้าน แทนที่จะให้คนไปนั่งตรวจสอบดูด้วยสายตา เขียนเงื่อนไขเข้าโปรแกรม ให้โปรแกรมไปรัน สิ่งที่ทำออกมาก็คือ ไปคัดกรองโครงการเหล่านั้นออกมา แล้วติดธงแดงว่า โครงการไหนน่าสงสัย แล้วให้คนเข้าไปตรวจสอบได้มากขึ้น"


"เราเสนอเป็น  พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ข้อมูลที่อยู่ในระบบราชการที่มาจากเงินภาษีประชาชนก็ควรจะเป็นของประชาชน ดังนั้นเราก็เลยกลับหลักกฏหมายเปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น พอเราพบโครงการที่น่าสงสัย ถ้า พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะมีผลบังคับใช้ หน่วยงานไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธและมิหนำซ้ำเองในตัว พ.ร.บ.เองก็บอกว่า ประชาชนทั่วไปไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นบนหน้าเว็บไซต์ทันทีโดยไม่ต้องร้องขอด้วยซ้ำ"



"พรรคชาติพัฒนากล้า"


หนึ่งในแนวคิดสำคัญของพรรคชาติพัฒนากล้า คือเรื่องของการใช้ระบบไร้เงินสดหรือ Cashless เพื่อป้องกันการทุจริต


กรณ์ จาติกวณิช 

หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า


"เราเสนอแนวคิดว่า ต้องเปลี่ยนเป็นออลเซอร์วิสเซ็นเตอร์ สมมติเราจะเปิดโฮมสเตย์ เราอาจต้องมีใบบอนุญาตกับหน่วยงานราชการ 10 หน่วยงาน ยื่นเอกสาร 10 ชุด แล้วก็รอเวลาราชการจะพิจารณาอนุมัติ ถ้าจะต้องมีการจ่ายค่าส่วยก็อาจจะต้องไปจ่าย 10 ที่ต่างหาก ด้วยเทคโนโลยีเราสามารถที่จะยื่นข้อมูลเอกสารหลักฐานทั้งหมด กดปุ่มเพื่อจะยื่นขออนุมัติสร้างโฮมสเตย์แล้วมันก็จะไปสู่ทุกหน่วยงานราชการ ที่สำคัญก็คือมันก็จะมีการแสตมป์ทันที เป็นแสตมป์ดิจิทัลจะระบุวันเวลาที่เรายื่น 


ถ้าเรายื่นครบถ้วนแล้วมันก็จะสามารถให้เราติดตามได้เลย ขั้นตอนในการพิจารณาของแต่ละหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไปถึงไหนแล้ว ลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความโปร่งใสเพราะเรามีเครื่องมือมีเทคโนโลยี"


"ไม่มีใครสามารถที่จะมารับรู้ หรือมีหลักฐานจับเราได้ แต่ถ้าสมมติว่าการจับจ่ายใช้สอยทุกเรื่องมันผ่านระบบ Cashless โอนเงินผ่านระบบดิจิทัล มันมีหลักฐานหมดเลย การทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลทำให้การทุจริตคอรัปชันมันทำยากขึ้นเยอะ ระบบการชำระสินค้าและบริการกับหน่วยงานราชการทั้งหมดต้องเป็นระบบไร้เงินสด ต้องเป็นระบบดิจิทัล แค่นั้นทุกอย่างมันก็ยากขึ้นแล้ว"


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง