รีเซต

หมอธีระ เปิดงานวิจัยพบโควิดที่"ไส้ติ่ง-เนื้อเยื่อเต้านม"ในผู้ป่วย Long COVID

หมอธีระ เปิดงานวิจัยพบโควิดที่"ไส้ติ่ง-เนื้อเยื่อเต้านม"ในผู้ป่วย Long COVID
TNN ช่อง16
9 มิถุนายน 2565 ( 09:01 )
96
หมอธีระ เปิดงานวิจัยพบโควิดที่"ไส้ติ่ง-เนื้อเยื่อเต้านม"ในผู้ป่วย Long COVID

วันนี้( 9 มิ.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 

โดยระบุว่า " 9 มิถุนายน 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 479,376 คน ตายเพิ่ม 1,312 คน รวมแล้วติดไป 536,995,931 คน เสียชีวิตรวม 6,324,784 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน เกาหลีเหนือ ฝรั่งเศส บราซิล และเยอรมัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 71.03 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 60.89

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 39.35 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 17.3


สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่าจำนวนติดเชื้อที่รายงานของไทยนั้นไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ เพราะหลัง 1 มิ.ย. มีการประกาศปรับมารายงานเพียงจำนวนคนป่วย ไม่ใช่รายงานการติดเชื้อใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 9.25% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย (อย่างไรก็ตามหากปรับตามคาดประมาณสัดส่วนของคนที่มีโรคร่วมเหมือน UK จะพบว่าคิดเป็น 12.71%


อัปเดต Long COVID

ล่าสุดทีมวิจัยจากสิงคโปร์และสเปน รายงานใน Research Square วันที่ 7 กรกฎาคม 2565ตรวจพบเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ได้ในไส้ติ่ง และเนื้อเยื่อเต้านม ของผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 15 เดือน โดยพบสารพันธุกรรมของไวรัส ที่เป็น replicative intermediate ซึ่งบ่งถึงกระบวนการแบ่งตัวของไวรัสที่ดำเนินอยู่

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า หลังติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว ไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่อาจเกิดภาวะผิดปกติระยะยาว เกิด Long COVID ที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ ในหลากหลายอวัยวะ หลากหลายระบบ โดยกลไกหนึ่งที่เป็นไปได้สูงคือ การมีการติดเชื้อไวรัสแฝงระยะยาวในเซลล์ของร่างกายการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอนั้นสำคัญมาก

ใครจะให้ Move on ถอดหน้ากากทิ้ง ทั้งๆ ที่สถานการณ์ระบาดของไทยยังติดอันดับโลกทั้งติดเชื้อและเสียชีวิต (แม้จะพยายามเปลี่ยนระบบรายงานตัวเลขให้ลดลงไปดังที่เป็นข่าวรับทราบกันมาตลอดก็ตาม) ก็ขอให้ประชาชนไตร่ตรองให้ดี

บทเรียนสองปีที่ผ่านมา ติดเชื้อจำนวนมาก ป่วยมาก ตายกันมาก สูญเสียสมาชิกครอบครัว เสียหายทั้งกาย ใจ และเศรษฐกิจกันมหาศาล คนแบกรับความทุกข์ทรมานคือคนที่ประสบปัญหาโดยตรง คนในสังคมต้องดิ้นรนหายา หาการตรวจ สนับสนุนกันเองเพื่อให้รอดจากวิกฤติ การใส่หน้ากากในสถานการณ์ปัจจุบันจึงยังเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพื่อให้ผ่านพ้นการระบาดไปด้วยกันอย่างปลอดภัย

อ้างอิง

Goh D et al. Persistence of residual SARS-CoV-2 viral antigen and RNA in tissues of patients with long COVID-19. Research Square. 7 June 2022.





ที่มา เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง