ไทยแชมป์อาเซียนส่งออกอาหารฮาลาล 16%กวาดตลาดอิสลาม
ไทยแชมป์อาเซียน ส่งออกอาหารฮาลาล กวาดตลาดอิสลาม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาหารฮาลาลเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการสูงและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยไทยมีศักยภาพในการส่งออกอาหารฮาลาลสูง โดยเฉพาะกลุ่มข้าว ผลไม้สดแห้งแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูปและกระป๋อง และน้ำตาล เพราะได้เปรียบด้านวัตถุดิบต้นน้ำ และตลาดอาหารฮาลาลยังเป็นตลาดขนาดใหญ่มีผู้บริโภคกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 29% ของประชากรโลก ผู้ประกอบการจึงควรใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ที่มีกับ 18 ประเทศ เพื่อส่งออกไปกลุ่มประเทศอิสลาม (OIC) ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน รวมถึงประเทศที่มีกำลังการบริโภคกลุ่มอาหารฮาลาลสูง เช่น จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี และปากีสถาน และมีแผนจะเจรจาเอฟทีเอกับบังคลาเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดกลุ่มอาหารฮาลาลในอนาคต
นางอรมน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยครองผู้ส่งออกกลุ่มอาหารฮาลาลอันดับ 1 ในอาเซียน เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีน และอินเดีย และอันดับที่ 12 ของโลก โดยปี 2562 ไทยส่งออกไปทั่วโลก รวมมูลค่า 29,331 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกไปจีนมากสุด รองลงมาคือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขณะที่การส่งออกไปประเทศสมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลาม ( OIC) 57 ประเทศ รวม 5,217 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 16% ของการส่งออกสินค้าทุกรายการ เช่น น้ำตาลทราย ส่งออก 1,463 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 28% ของการส่งออกอาหารฮาลาลทั้งหมด รองลงมา คือ ข้าว ส่งออก 1,422 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 27% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่งออก 683 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 13% และอาหารสำเร็จรูปและเครื่องปรุงแต่งอาหาร ส่งออก 258 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 5 % โดยสินค้าอาหารฮาลาลไทยไปกลุ่ม OIC สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เบนิน ซาอุดิอาระเบีย และแคมารูน
นางอรมน กล่าวว่า การส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศมุสลิม โดยเฉพาะอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ และเครื่องดื่ม จะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลาม พร้อมยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมายฮาลาลและหนังสือรับรองการผลิตอาหารฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และควรพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น อาหารออร์แกนิคเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับคนในชุมชนเมืองที่ต้องการความสะดวกสบาย และผู้สูงอายุที่เน้นบำรุงสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรเจาะตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศที่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่ หรือไปท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมถึงตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย