กรมชลประทานรับลูก ครม. เคาะ 2.8 พันล้าน ปรับปรุงคลองยม – น่าน ที่สุโขทัย
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการปรับปรุงคลองยม–น่าน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยมที่จะมีปัญหาในเรื่องอุทกภัยและในช่วงฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการต่อไป
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินการโครงการทันทีโดยโครงการนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพในลุ่มน้ำ–ลำน้ำ การพัฒนาระบบบริหารน้ำในลำน้ำ เนื่องจากลุ่มน้ำยมตอนล่างในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ไม่มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ทำให้บางช่วงไม่สามารถรับน้ำหลากได้และเกิดอุทกภัยในขณะที่ฤดูแล้งไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ จึงต้องมีการพัฒนาระบบบริหารเข้ามาเพิ่ม ร่วมถึงการขยายคลองในบางจุดเพื่อเพิ่มศักยภาพลำน้ำ
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายก่อสร้าง กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติโครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน จังหวัดสุโขทัย กรอบวงเงิน 2,875 ล้านบาท โครงการ 5 ปี (ปี 2563 -2567) โดยโครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน จังหวัดสุโขทัย จะเป็นการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสายหลัก ที่จะมีการตัดยอดน้ำบางส่วนจากแม่น้ำสายหลัก ที่ไหลมาจากอำเภอศรีสัชนาลัยประมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที ซึ่งมีการบริหารจัดการออกสู่คลองสาขาประมาณ 350 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาทีและไหลลงมาถึงบริเวณบ้านหาดสะพานจันทร์ประมาณ 1,050 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที ในขณะที่ตัวเมืองรับน้ำได้ประมาณ 550 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนั้นจะต้องควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับปริมาณน้ำได้
ทั้งนี้ จะเริ่มจากตัดยอดน้ำที่บริเวณคลองหกบาท ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ที่จะขยายศักยภาพการรับน้ำจาก 250 ลบ.ม.ต่อวินาที ขยายเป็น 500 ลบ.ม.ต่อวินาที รับน้ำไปลงแม่น้ำน่านบริเวณปลายคลองยม – น่าน ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จากนั้นจะระบายน้ำออกไปลงแม่น้ำน่าน 300 ลบ.ม.ต่อวินาที และออกไปยังคลองยมเก่าลงแม่น้ำยมอีก 200 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้มีปริมาณน้ำในแม่ยมคงเหลือผ่านตัวเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพรับน้ำไม่เกิน 550 ลบ.ม.ต่อวินาที
สำหรับโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2564 ระหว่างนี้กรมชลฯจะดำเนินการเตรียมความพร้อมในการจัดหาที่ดิน ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้น จะเป็นประโยชน์ในการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ครอบคลุม 15 ตำบล 27 หมู่บ้าน 5,340 ครัวเรือน และสามารถกักเก็บน้ำในแนวคลองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรและการปศุสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,300 ไร่