หุ้นสหรัฐฯปิดผสมผสาน รอดูท่าทีภาษีตอบโต้คู่ค้า

#หุ้นสหรัฐ #ทันหุ้น – บทวิเคราะห์ โดย บล.เอเซียพลัส
.
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดผสมผสานในวันจันทร์ที่ผ่านมา (S&P500 +0.55%, Dow Jones +1.00% และ Nasdaq -0.14%) โดยตลาดหุ้นยังแกว่งตัวรอดูท่าทีต่อการปรับขึ้นภาษีตอบโต้ กับคู่ค้า (Reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ดัชนี S&P500 ได้รับแรงหนุนหลักจากการ ปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Consumer Staples (+1.63%), Financials (+1.25%) และ Energy (+1.07%)
Fox News เผยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังไม่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับแผนภาษีตอบโต้กับคู่ค้า โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดเผยว่าอาจเลื่อนการตัดสินใจไปจนถึงช่วงเช้าวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งเป็นวันครบกำหนด "Liberation Day" ที่ทรัมป์เตรียมเปิดตัวมาตรการภาษีใหม่ต่ออีกหลายประเทศ โดยในเบื้องต้นพิจารณาทำในลักษณะกำหนดเป็นรายประเทศมากกว่ารายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม โฆษกทำเนียบขาว Karoline Leavitt ยืนยันว่าทรัมป์ยังมีเป้าหมายจะเก็บภาษีแบบแยกตามภาคธุรกิจในอนาคตเช่นกัน
Tom Barkin ประธาน Fed สาขา Richmond ให้สัมภาษณ์ CNBC ระบุว่าผลกระทบจากภาษียังต้องใช้เวลาประเมิน โดยเริ่มเห็นสัญญาณว่าผู้ผลิตอาจมีความจำเป็นจะต้องผลักต้นทุนไปยังผู้บริโภคโดยการปรับขึ้นราคา ขณะที่ผู้บริโภคไม่พอใจกับราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่แรง กดดันด้านเงินเฟ้อในอนาคต
Barkin ย้ำว่าการลดอัตราดอกเบี้ยต้องมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อ อยู่ภายใต้การควบคุม และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจลดโอกาสการลดอัตราดอกเบี้ย เขายังแสดงความกังวลด้านการจ้างงาน โดยมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนช่วง Stagflation ในปี 1970 พร้อมย้ำจุดยืน ‘Wait and see’ ขณะเดียวกันยังระบุว่าการลดขนาดงบดุลอาจใช้เวลานานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
หุ้นกลุ่มไบโอเทคสหรัฐฯ ร่วงแรง นำโดย Moderna -8.90%, Novavax -8.43% และ Sarepta -9.36% หลัง Dr. Peter Marks ผู้อำนวยการศูนย์ CBER แห่ง FDA ประกาศลาออก ท่ามกลางแผนปฏิรูปสาธารณสุขของรัฐบาล Trump–Kennedy ที่เริ่มเดินหน้าอย่างจริงจัง Marks เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการอนุมัติวัคซีนโควิดและการพัฒนายีนบำบัดสำหรับโรคหายาก การลาออกของเขาสร้างความไม่มั่นใจในแนวทางการกำกับดูแลใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลอาจยกเลิกข้อยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับยาและเวชภัณฑ์
.
นักวิเคราะห์มองว่าเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมกลุ่ม Biotech ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากต้นทุนเงินทุนสูงและภาวะตลาดทุนไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ท่าที ของ Robert F. Kennedy Jr. ซึ่งเคยตั้งคำถามต่อวัคซีน ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนต่อผู้ลงทุนในภาคชีวภาพ
.
ฝ่ายกลยุทธ์ฯ มองว่าหุ้นในกลุ่มไบโอเทคของสหรัฐฯ กำลังเผชิญแรงกดดันครั้งสำคัญจากประเด็นการลาออกของ Dr. Peter Marks ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะในหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงด้านกฎระเบียบมากเป็นพิเศษ
.
ในทางกลับกัน หุ้นกลุ่ม Big Pharma เช่น Johnson & Johnson (JNJ), Pfizer (PFE), AbbVie (ABBV), Amgen (AMGN), Gilead Sciences (GILD) และ Eli Lilly (LLY) มี แนวโน้มได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากมีฐานรายได้ที่หลากหลายกว่า และมีความสามารถในการต่อรองด้านต้นทุนและราคาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มไบโอเทคขนาดเล็ก ซึ่งมักพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก
.
-นอกจากนี้ ในสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนด้านนโยบายการปรับน้ำหนักการลงทุนมายังหุ้นกลุ่ม Big Pharma ก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากมักถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้น Defensive ที่ให้ผลตอบแทนที่มีเสถียรภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มไบโอเทค โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ความเสี่ยงที่ต้องระวัง 1) ความไม่แน่นอนทางนโยบาย 2) ต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาษีนำเข้า 3) การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น 4) เม็ดเงินการลงทุนที่มากขึ้น
.
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ50.5 จุด (ตลาดคาดที่ระดับ 50.4 จุด vs. เดือนก่อนที่ระดับ 50.2 จุด) ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการในเดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด (ตลาดคาดที่ระดับ 50.6 จุด vs. เดือนก่อนที่ระดับ50.4 จุด)
.
-Midea (000333 CH) รายงานกำไรปี 2024 ดีกว่าคาด โดย EPS อยู่ที่ 5.44 หยวน (+10.3% YoY, สูงกว่าคาด 6.1%) ขณะที่รายได้รวม 409,084 ล้านหยวน (+9.5% YoY, ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย 0.2%) Q4 มีกำไรสุทธิ 6,838 ล้านหยวน (+13.9% YoY) และรายได้ 88,700 ล้านหยวน (+9.1% YoY) อัตรากำไรจากการดำเนินงานทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 10.2% จาก 9.3% ด้านการสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น บริษัทประกาศจ่ายปันผลคิดเป็น 69% ของกำไรสุทธิ (สูงกว่าคาด 65%) พร้อมแผนซื้อหุ้นคืนมูลค่า 5,000–10,000ล้านหยวน โดย 70% ของหุ้นที่ซื้อคืนจะถูกยกเลิก และตั้งเป้าปันผลขั้นต่ำ 60% ต่อปีในช่วงปี 2025–2027 ธุรกิจ Smart Home (2C)โต +9% YoY ยังคงเป็นแกนหลัก ขณะที่กลุ่ม 2B โต +7% YoY และเร่งตัวใน Q4 โดยเฉพาะSmart Building +10% และ Industrial Tech +21% แม้ Robotics & Automation หดตัว -8%แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะต่อไป
.
-ฝ่ายกลยุทธ์ฯ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อเพื่อเก็งกำไร” สำหรับ Midea จากผลประกอบการปี 2024 ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดในประเทศ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการ Trade-in และการเติบโตของตลาดต่างประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดี ประกอบกับทิศทางอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ทรงตัว รวมถึงแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนขนส่งที่ผ่อนคลายลง อีกทั้ง การเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกตามกลุ่มธุรกิจในปีนี้ ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริหารต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจองค์กร (2B) ซึ่งถูกวางให้เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญของการขยายฐานรายได้และผลกำไรในอนาคต โดยเฉพาะในธุรกิจ Smart Building และ Industrial Tech ที่มีอัตราการเติบโตและอัตรากำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัท ขณะเดียวกัน ธุรกิจ 2C (SmartHome Solutions) ยังคงเติบโตอย่างมั่นคง มีอัตรากำไรที่ดีและเสถียร ส่งผลให้ภาพรวมรายได้และผลกำไรของบริษัทมีเสถียรภาพ
.
- อีกหนึ่งประเด็นที่โดดเด่นคือ การเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลเป็น 69% ของกำไรสุทธิ ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกัน บริษัทยังประกาศแผนซื้อหุ้นคืนมูลค่า 5,000–10,000ล้านหยวน (คิดเป็นประมาณ 0.8–1.7% ของมูลค่าตลาด) โดยระบุว่า ส่วนใหญ่ของหุ้นที่ซื้อคืนจะถูกยกเลิกเพื่อลดทุนจดทะเบียน ซึ่งจะช่วยหนุน EPS ในระยะกลางถึงยาว ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน และการให้ความสำคัญต่อการสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น ความเสี่ยงที่ต้องระวัง 1) เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาด 2) การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น 3)มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าช้า 4) ความผันผวนของค่าเงินหยวน
.
-ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้: ยูโรโซน CPI เบื้องต้น เดือน มี.ค. (ตลาดคาด +0.6%MoM vs. เดือนก่อน +0.4%), Unemployment Rate เดือน ก.พ. (ตลาดคาดเท่ากับเดือนก่อนที่ 6.2%) และดัชนี HCOB Manufacturing PMI เดือน มี.ค. (ตลาดคาด 48.7จุด vs. เดือนก่อน 47.6 จุด) สหรัฐฯ ISM Manufacturing เดือน มี.ค. (ตลาดคาด 49.5 จุด vs. เดือนก่อน50.3 จุด)
.
-ติดตามการแสดงความเห็นของทรัมป์ที่อาจมีการเปลี่ยนท่าทีต่อการปรับขึ้นภาษีตอบโต้กับคู่ค้า (Reciprocal tariffs) โดยจะมีการบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย.รวมถึงการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25%ที่จะมีผลบังคับใช้ทำให้กระทบต่อประเทศที่มีการพึ่งพิงการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง อาทิ สโลวาเกีย เม็กซิโก เกาหลีใต้ แคนาดา และญี่ปุ่น รวมทั้งในเดือนเม.ย. ทางสหรัฐฯ อาจได้ข้อสรุปในการทบทวนมาตรการ Phase One Deal กับจีนที่ทำให้ความขัดแย้งเรื่องสงครามการค้าในยุค Trump 1.0 ได้สิ้นสุดลงในครั้งก่อน ทำให้ยังต้องระมัดระวังความผันผวนของตลาดจากประเด็นสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น